พลิกประวัติศาสตร์นอกตำราตามหาพระยาละ

พระยาละแวก

เย็นวันหนึ่งกลางเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕

เมืองละแวก จังหวัดกำพงฉนัง ราชอาณาจักรกัมพูชา

อุณหภูมิกว่า ๔๐ องศาเซลเซียสทำเอาผมเหงื่อชุ่มขณะที่ตระเวนหาร่องรอย “กรุงละแวก”

ประเมินด้วยสายตา พื้นที่อดีต “เมืองหลวงของชาติศัตรู” ในประวัติศาสตร์ไทยขณะนี้ ถูกยึดครองโดยที่นาและป่าไผ่ซึ่งกระจายตัวเป็นหย่อมๆ สลับกับบ้านเรือนของประชาชน

ร่องรอยเก่าแก่ของเมือง คือ วัดเก่า ๖ แห่ง วัตถุโบราณไม่กี่ชิ้น คูน้ำคันดินด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือที่ยังเหลือสภาพอยู่ส่วนหนึ่ง

กาลเวลาทำให้สิ่งที่ผมเห็นต่างสิ้นเชิงกับที่พงศาวดารให้ภาพว่ากรุงละแวกนั้น

“ไม่ว่าม้าจะมีกำลังมากเพียงใด ก็ไม่สามารถวิ่งรอบกำแพงเมืองนี้ได้”

เพราะในอดีตเมืองนี้มีกำแพงถึง ๕ ชั้น มีป้อมปืนทุกประตู มีป่าไผ่ขึ้นหนาแน่นเป็นปราการธรรมชาติล้อมรอบพระนคร และใจกลางเมืองคือหมู่ราชปราสาท ๕ ยอดที่ประดับด้วยทองคำอย่างงดงาม

ทั้งหมดนี้คืออาณาจักรที่คนไทยคุ้นชื่อและมีภาพจำว่า “กรุงละแวก เมืองศัตรู” แบบเรียนประวัติศาสตร์ชาตินิยมบอกเราว่าผู้ครองกรุงหรือพระยาละแวกคือกษัตริย์กัมพูชาที่มักโจมตีกรุงศรีอยุธยาแบบ “ฉวยโอกาส” ในช่วงที่กรุงศรีอยุธยาทำศึกติดพันอยู่กับกรุงหงสาวดี ก่อนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะยกทัพไป “เอาคืน” และเกิดฉากจบที่ติดตรึงความทรงจำคนไทยคือกรุงละแวกแตก สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงทำพิธีปฐมกรรมประหารพระยาละแวกแล้ว “เอาเลือดล้างพระบาท”

ที่ผ่านมาภาพลักษณ์ “ไว้ใจไม่ได้” ของกัมพูชาถูกแทนที่ด้วยเรื่องเล่าเหล่านี้ ทั้งยังเป็นที่มาของคำประณามหยามเหยียดว่า “ลูกหลานพระยาละแวก” “เขมรไว้ใจไม่ได้” หนักยิ่งกว่าคือประณามกัมพูชาว่าเป็น “สุนัขลอบกัด”

ทว่าเมื่อสืบค้นหลักฐานอย่างรอบด้าน ผมกลับพบความจริงอันน่าตะลึง

ข้อความจากพงศาวดารอาจเป็นเรื่องแต่ง เรา (คนไทย) ไม่รู้ว่ากำลัง “ชิงชัง” พระยาละแวกองค์ไหน เหตุการณ์จริงเป็นอย่างไร และเราควรเอาอดีตมาปนกับปัจจุบันหรือไม่

กลางปี ๒๕๕๕ ผมเดินทางไปตามเมืองประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระยาละแวกทั้งในไทยและกัมพูชา

เพื่อค้นหา “พระยาละแวกพระองค์จริง” และ “ความจริง” อีกชุดที่คนไทยไม่คุ้นเคย

ประวัติศาสตร์หมกเม็ด ศึกคราวกัมพูชา เสียเมืองพระนครหลวง

ย้อนไปเมื่อ ๓ ชั่วโมงที่แล้ว

ผมว่าจ้างรถยนต์คันหนึ่งกับซาริท คนนำทางชาวกัมพูชาเพื่อให้เขานำทางไปที่ “ละแวก” เมืองหลวงเก่าของกัมพูชาซึ่งอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางเหนือ

ซาริทบอกผมว่าเมืองหลวงเก่าแห่งนี้กระทั่งคนกัมพูชาก็แทบไม่นึกถึงเพราะไม่เป็นที่รู้จักเท่า “เมืองพระนคร” ที่ตั้งมหาปราสาทนครวัดและปราสาทบายน จังหวัดเสียมเรียบ

เขาบอกว่าคนกัมพูชาจำเรื่องเมืองพระนครได้มากกว่าละแวก ด้วยแบบเรียนกัมพูชาเขียนไว้ว่า พ.ศ. ๑๙๗๔ กองทัพของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) แห่งกรุงศรีอยุธยาได้บดขยี้กรุงศรียโสธรปุระ (“เมืองพระนครหลวง” ในอดีตหรือ “เมืองพระนคร” ในปัจจุบัน) ศูนย์กลางอารยธรรมกัมพูชาจนพินาศ

ระหว่างฟังซาริทเล่าเรื่องเมืองพระนคร ผมทราบอยู่แก่ใจดีว่าเรื่องนี้นักประวัติศาสตร์หลายท่านที่ศึกษาประวัติศาสตร์แนวใหม่ต่างชี้ว่าเจ้าสามพระยาไม่ต่างกับกษัตริย์องค์อื่นบนภาคพื้นอุษาคเนย์ที่หวังเป็น “ราชาเหนือราชา” ตามคติ “จักรพรรดิราช” ที่แพร่หลายในหมู่กษัตริย์ผู้นับถือศาสนาพุทธ โดยคตินี้มีต้นตำรับจากอินเดีย มีพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นต้นแบบ เชื่อว่าจักรพรรดิราชต้องมีรัตนะ (สมบัติ) ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว นางแก้ว แก้วมณี ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว และต้องแสดงแสนยานุภาพแผ่อำนาจไปยังหัวเมืองต่างๆ เป็นการขยายอำนาจในโลกที่ยังไม่มีระบบ “รัฐชาติ” หรือ “ประเทศ”

ในระบบนี้เมือง “ประเทศราช” ต้องส่งบรรณาการ ถูกเกณฑ์แรงงานและผู้คน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดในสมัยนั้น ทุกเมืองจึงล้วนต้องการมี “เอกราช”

มองมุมนี้การกระทำของเจ้าสามพระยาจึงมิใช่เรื่องแปลก เพียงแต่ไม่ได้ถูกเล่าไว้ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ของไทย คนไทยรับรู้ว่าบรรพบุรุษของเรามีแต่ “ถูกโจมตี” จากอาณาจักรข้างเคียงมาตลอด

การได้เมืองพระนครหลวงคราวนั้น พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ และพงศาวดารไทยฉบับอื่นๆ บอกชัดเจนว่าเจ้าสามพระยาทรงกวาดต้อนผู้คนเป็นจำนวนกว่า ๙ หมื่นคน ริบทรัพย์สมบัติจำนวนมาก รวมทั้งรูปหล่อสำริดต่างๆ จับ “องค์ประกัน” คือ “พญาแก้ว และ พญาไท” เชื้อพระวงศ์กัมพูชากลับไป และภายหลังผลการศึกษาในเชิงคติวิทยายังบ่งชี้ว่า การตีเมืองพระนครหลวงคราวนี้ทำให้กรุงศรีอยุธยาได้รับคติ “เทวราชา” อันส่งอิทธิพลต่อขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนักสยามในเวลาต่อมา

แต่สิ่งที่เจ้าสามพระยาคาดไม่ถึงคือนับแต่นั้นมากรุงศรีอยุธยาต้องพัวพันกับการเมืองในราชสำนักเขมรอย่างถอนตัวไม่ขึ้น  พระองค์ต้องส่งพระโอรสถึง ๒ องค์ คือ พระอินทราชาและพระยาแพรกไปครองเมืองพระนคร ก่อนที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าพญายาต) เชื้อพระวงศ์กษัตริย์กัมพูชาจะชิงเมืองกลับคืนไป

ผมยังนึกถึงคำอธิบายของ ดร. ศานติ ภักดีคำ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ประสานมิตร ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์กัมพูชาที่เล่าสถานการณ์หลังเสียเมืองพระนครหลวงว่า ในตอนนั้นบ้านเมืองต่างๆ รอบทะเลสาบเขมรตกอยู่ในสภาพวุ่นวาย ไม่ต่างจากยุคเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒  ด้วยเมื่อไม่มีเมืองพระนคร อาณาจักรที่เคยเกรียงไกรก็สลายตัวลงเป็นก๊กเป็นเหล่า เพราะนอกจากกษัตริย์ที่ราชธานียังมีผู้ครองนครรัฐอิสระซึ่งมีอำนาจเกือบเทียบเท่ากษัตริย์อีกเป็นจำนวนมากพร้อมจะตั้งตัวเป็นใหญ่  ราชสำนักกัมพูชาที่อ่อนแอพยายามย้ายราชธานีหลายครั้ง ไม่ว่าจะย้ายไปยังตวลบาสาณ เมืองศรีสันธร (จังหวัดกำพงจาม) จตุมุข (กรุงพนมเปญ) เพื่อให้ห่างกรุงศรีอยุธยาที่มีกำลังทหารเข้มแข็ง แต่แม้จะย้ายราชธานีก็ปรากฏว่าหลายครั้งกรุงศรีอยุธยาก็ยังคงแทรกแซงเมื่อมีโอกาส

เรื่องที่อาจารย์ศานติเล่าไม่ปรากฏในแบบเรียนและพงศาวดารไทย แต่ไปปรากฏในพงศาวดารกัมพูชาหลายฉบับ ว่า เมื่อถึงรัชกาลสมเด็จพระศรีสุคนธบทซึ่งตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ตโบงฆมุม (ปัจจุบันคืออำเภอหนึ่งในเขตจังหวัดกำพงจาม บริเวณภาคกลางของกัมพูชา) ก็เกิดเหตุขุนหลวงเสด็จกอน เป็นกบฏปลงพระชนม์สมเด็จพระศรีสุคนธบทเสีย “เจ้าพญาจันทราชา” พระอนุชาต้อง “ลี้ภัยการเมือง” มาอยู่กรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒

แล้วมหากาพย์เรื่อง “พระยาละแวก” ก็เริ่มขึ้น

พญาจันทราชา ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงละแวก พระยาละแวก1

“อดีตกรุงละแวก” ทุกวันนี้ตั้งอยู่ในตำบลเล็กๆ ของจังหวัดกำพงฉนัง ห่างกรุงพนมเปญไปทางเหนือตามถนนหมายเลข ๕ ราว ๔๕ กิโลเมตรในเขตที่ราบลุ่มซึ่งคนกัมพูชาโบราณเรียกว่า “จตุมุข” สถานที่ซึ่งแม่น้ำโขงไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำสาบ ก่อนจะแยกเป็นอีก ๒ สายคือแม่น้ำบาสักและแม่น้ำโขง

ทางเข้าสู่เมืองละแวกเก่าเป็นถนนเล็กๆ ที่แยกจากถนนหมายเลข ๕ ผิวถนนเป็นลูกรัง ริมถนนมีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาร่มรื่น ก่อนเข้าเขตประตูเมืองเก่าจะผ่าน “ศาลนักตาปาง” หรือศาลเสื้อเมืองของเขมรและร่องรอยคูน้ำคันดิน

เมื่อลงไปสำรวจพื้นที่โดยรอบ ท่ามกลางอุณหภูมิเกือบ ๔๐ องศาเซลเซียส ผมพบแต่ท้องนากว้างสุดลูกหูลูกตา กล้าข้าวที่เพิ่งปักดำเริ่มแตกกอเขียวชอุ่ม กระท่อมปลายนาปลูกเรียงรายอยู่ลิบๆ มีกอไผ่กระจายตัวเป็นหย่อมๆ สลับกับบ้านเรือนที่ส่วนมากปลูกอยู่ริมถนน

ซาริทช่วยสอบถามชาวบ้านแถบนี้ว่ารับรู้เรื่องเมืองละแวกอย่างไร ก่อนจะกลับมาเล่าให้ฟังว่ามีเพียงคนแก่เท่านั้นที่ทราบว่าที่นี่เคยเป็นเมืองหลวงเก่าซึ่งตั้งขึ้นหลัง “ยุคเข็ญ” คราวเสียเมืองพระนครหลวง  ส่วนคนรุ่นหลังก็รับรู้แค่ว่าตรงนี้เคยเป็นเมืองโบราณสำคัญเท่านั้น

เมื่อรถพาผมไปสุดถนนก็พบเนินเขาเตี้ยๆ ที่ยอดเนินเป็นที่ตั้งของ “วัดตรอแฬงแกง” ซึ่ง พงศาวดารเขมร จ.ศ. ๑๒๑๗ บรรยายถึงการสร้างราชธานีไว้ว่า เริ่มจากสร้างวัดศูนย์กลางเมืองแห่งนี้ “ก่อค่ายด้วยศิลาข้างล่าง แล้วพูนดินบนศิลา เสร็จแล้วสร้างพระพุทธรูปอัฐรัศ ๔ องค์ องค์หนึ่งทำด้วยไม้จริง พระบาทพระพุทธรูปนั้นทำด้วยศิลา ผินพระปฤษฎางค์ (หลัง) เข้าหากัน ผันพระพักตร์ออกทั้ง ๔ ทิศ แล้วสร้างพระวิหารมีมุขเด็จทั้ง ๔ ด้าน มียอดอยู่กลาง ฝาผนังประดับกระจกปิดทอง แล้วให้สร้างพระพุทธไสยาสน์นิพพานด้วยศิลา แลพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ทำด้วยศิลาไว้ที่บนเนินเขาพระราชทรัพย์”  เมื่อผมเข้าไปก็พบสิ่งสำคัญที่สุดของวัดคือ “พระอุโบสถวิหารจัตุรมุขมหาปราสาท” ภายในประดิษฐานศิลาของพระอัฏฐารส (พระพุทธรูปอัฐรัศ) ที่ปรากฏในพงศาวดารทั้งสี่องค์แต่ปราศจากองค์พระ ใกล้กันมีรูปจำลองพระอัฏฐารสที่ทำขึ้นภายหลัง เมื่อออกไปข้างอุโบสถก็พบบ่อน้ำปักป้าย “ประวัติศาสตร์สมัยละแวก บ่อน้ำพระนางเภา (องค์เล็ก) ในเสด็จองค์จันที่ ๑  พระโค-พระแก้วสร้างบ่อน้ำนี้ในปี ๒๐๕๘-๒๐๙๘” ใกล้บ่อน้ำมี “วิหารพระโค” ประดิษฐานประติมากรรมพระโคและจิตรกรรมฝาผนังเล่าตำนานพระโค-พระแก้วตั้งแต่ต้นจนจบ

คุณยายออม ชาวกัมพูชาวัย ๗๙ ปี คนเฝ้าวิหารพระโคบอกว่า พระโคที่เห็นเป็นองค์จำลอง องค์จริงเล่ากันว่าถูกนำไปกรุงศรีอยุธยาคราวเสียกรุงละแวก  ส่วนร่องรอยเมืองละแวกนอกจากวัดตรอแฬงแกง ยังมีคูน้ำคันดินเก่า ๓ ชั้น (ตรีบูร) ที่ชัดเจนทางด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก และวัดเก่าอีก ๖ แห่ง

ผมลองเปิดดู Google Earth ก็พบว่าร่องรอยคันดินของกรุงละแวกยังปรากฏชัดเจนบนภาพถ่ายดาวเทียมและแม่น้ำสาบ โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองละแวกออกไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะทางไม่ถึง ๑ กิโลเมตร

ทั้งหมดคือร่องรอยปัจจุบันของ “อดีตกรุงละแวก” หรือ “บันทายลงแวก” ราชธานีที่เจริญรุ่งเรืองร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยาและกรุงหงสาวดีในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งวันนี้เหลือเพียงวัดไม่กี่แห่งและคูเมืองเก่าเท่านั้น

ลองสลัดภาพ “กรุงละแวก เมืองผู้ร้าย” ในประวัติศาสตร์ไทยออก แล้วอ่านหลักฐานในพงศาวดารกัมพูชาหลายฉบับจะพบว่าต่างยกย่องว่า กรุงละแวกนี้รุ่งเรืองขึ้นเพราะพญา-จันทราชา โดยจิกซอว์ที่เล่าเรื่องนี้กระจายอยู่ในพงศาวดารกัมพูชา ๓ ฉบับคือ พงศาวดารเมืองละแวก จ.ศ. ๑๑๕๘  พงศาวดารเขมร จ.ศ. ๑๒๑๗ (ชำระสมัยรัชกาลที่ ๒) และ เอกสารมหาบุรุษเขมร ซึ่งช่วยเติมเต็มภาพกรุงละแวกที่พงศาวดารไทยทุกฉบับไม่พูดถึงได้เป็นอย่างดี

หลักฐาน ๓ ชิ้นนี้บอกเราว่า “พญาจันทราชา” ประสูติที่จตุมุข (พนมเปญ) ในปี ๒๐๒๙  เมื่อพระชนมายุ ๒๓ พรรษา เกิดกบฏขุนหลวงเสด็จกอน พระองค์จึงลี้ภัยไปประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาถึง ๔ ปี จากนั้นได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ให้กู้บัลลังก์คืน พระองค์จึงกลับมาตั้งราชธานีใหม่ที่เมืองอมราบดีรันทบูระ (ปัจจุบันคือจังหวัดกำพงฉนัง อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา) สะสมกำลังอยู่ ๑๐ ปี ก็ยกทัพไปรบขุนหลวงเสด็จกอนจนได้ชัยชนะปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชา จากนั้นก็สร้าง “บันทายลงแวก” ขึ้นระหว่างปี ๒๐๗๐-๒๐๗๓ (ยึดตาม พงศาวดารเมืองละแวก จ.ศ. ๑๒๑๗ )

เอกสารมหาบุรุษเขมร ยังให้รายละเอียดว่าพระราชวังนั้นเป็นปราสาท ๕ ยอด มีพระราชมณเฑียร พระตำหนักพระชายาและสนม และมีปราสาท ๓ ยอดสำหรับพระราช-ธิดา “แล้วพระองค์ให้ขุดสระสรงงดงามในพระนคร…”

ส่วนระบบป้องกันเมืองประกอบด้วยกำแพงเมือง คันดิน ๕ ชั้น ชั้นนอกสุด “มีประตูใหญ่ ๘ ประตู ประตูหนึ่งๆ มีป้อม หนึ่งป้อม ป้อมทั้ง ๘ มีความสูง ๒๒ ศอก สำหรับไว้ปืนใหญ่ ตรงมุมทั้ง ๔ มุมสูง ๒๕ ศอก สำหรับไว้ปืนใหญ่เช่นเดียวกัน ส่วนบนกำแพงล้อมรอบนั้นทรงให้ตั้งปืนล้อมทั้ง ๕ ชั้น” ในกำแพงชั้นในสุดนั้นตั้ง “โรงพระปัญจเกษตร และตำหนักสำริด พิมานสำราญพิรมย์ กรมครูบาปุโรหิต กรมมหาดเล็ก…มี ๕ ยอด มีช่อฟ้าใบระกา” โดยทั้งหมด “ลงรักปิดทอง โอภาสโสภาสว่างแวววาวพ้นประมาณ”

ทุกวันนี้ความอลังการของราชธานีละแวกยังทิ้งร่องรอยไว้ในความทรงจำคนกัมพูชา เห็นได้จากมีคำพูดติดปากคนเฒ่าคนแก่ว่ากรุงละแวกนั้น “ไม่ว่าม้าจะมีกำลังมากเพียงใด ก็ไม่สามารถวิ่งรอบกำแพงเมืองนี้ได้”

พญาจันทราชาย้ายมาประทับในเมืองหลวงใหม่ตั้งแต่ปี ๒๐๘๒  อาจารย์ศานติวิเคราะห์ว่า การตั้งกรุงละแวกเปรียบได้กับการฟื้นฟูความรุ่งเรืองสมัยเมืองพระนครให้กลับมาและอธิบายว่ายังมีตำนานพื้นบ้านเล่าว่าเมืองนี้เป็นที่ประดิษฐาน “พระโค-พระแก้ว” ซึ่งเชื่อกันว่าในท้องพระโคมีสรรพวิชาความรู้

นั่นหมายถึงในสมัยนั้นละแวกมีสถานะเป็น “คลังแห่งอารยธรรมกัมพูชา” นั่นเอง

และนับแต่นั้นชาวสยามก็เรียกกษัตริย์กัมพูชาว่า “พระยาละแวก” อันหมายถึง “ผู้ครองกรุงละแวก” เหมือนที่เรียกผู้ครองกรุงหงสาวดีว่า “พระเจ้าหงสาวดี” โดยไม่แยกแยะว่าเป็นกษัตริย์องค์ใด

นั่นหมายถึง “พระยาละแวก” มีหลายองค์ และพญา-จันทราชาคือพระยาละแวกองค์แรกนั่นเอง

ถึงปี ๒๐๘๓ พญาจันทราชามีพระชนมายุ ๕๔ พรรษา สมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาก็ส่งกองทัพมาตีละแวกเพื่อทวงการยอมรับฐานะ “เมืองประเทศราช” ของกรุงละแวก

ทว่าการยกทัพคราวนี้กลับล้มเหลวเนื่องจาก “ความทรงจำเรื่องเมืองพระนคร” ทำให้ทัพอยุธยา “หลงทาง” กล่าวคือจากที่ควรใช้เส้นทางอรัญประเทศเข้าโจมตีละแวกซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของตนเลสาบหรือทะเลสาบเขมร ทัพอยุธยากลับคิดว่ากรุงละแวกตั้งอยู่ทางเหนือของทะเลสาบบริเวณเมืองพระนครเดิม (ปัจจุบันคือเมืองเสียมเรียบ) จึงใช้เส้นทางตัดข้ามเทือกเขาดงพญาไฟ เข้าพิมายและนครราชสีมา ข้ามเทือกเขาพนมดงรัก มุ่งลงใต้สู่เมืองพระนครซึ่งเท่ากับเดินทัพอ้อมไปทางด้านตะวันออกของทะเลสาบเขมร  อย่างไรก็ตามถึงแม้ทัพสยามจะหลงทาง พญาจันทราชาก็ทรงเตรียมทัพไปรับศึก ณ จุดที่ทัพอยุธยาหลงไปนั้น

เรื่องพิลึกพิลั่นนี้ปรากฏใน พงศาวดารเขมร จ.ศ. ๑๒๑๗ ว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา “ยกทัพมาถึงพระนครหลวง” (เมืองเสียมเรียบ) ก็ถูกทัพพญาจันทราชาตีแตก “จับได้เชลยไทยเป็นอันมาก” ทว่ามิได้ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ แต่อย่างใด และเชื่อกันว่าศึกครานี้เป็นที่มาของชื่อ “เสียมราบ” (กัมพูชาออกเสียง “เสียมเรียบ”) ที่หมายถึง “ชาวสยาม (แพ้) ราบเรียบ” และกลายเป็นชื่อเมืองเสียมเรียบในภายหลังนั่นเอง

ระหว่างปี ๒๐๗๗-๒๐๙๙ หลักฐานไทยและกัมพูชาเล่าตรงกันว่า กรุงศรีอยุธยาได้เข้าไปแทรกแซงกัมพูชาเป็นระยะ  ครั้งหนึ่งเมื่อหัวเมืองกัมพูชาเกิดการแตกแยกกันเองทำให้ราชสำนักกัมพูชาขอกองทัพจากกรุงศรีอยุธยามายุติความวุ่นวายก่อนที่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจะได้ตัวเชื้อพระวงศ์คือ “พญาโอง” ไปเป็นองค์ประกัน

อีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในปี ๒๐๙๙ เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิส่งพญาโองกลับมาชิงราชสมบัติพร้อมกองทัพ ๓ หมื่นคน แต่พญาโองพ่ายแพ้  เอกสารมหาบุรุษเขมร ถึงกับระบุว่ารอบนี้เป็น “ศึกยุทธหัตถี” ที่พญาจันทราชาได้ชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ ส่งเสริมพระบารมีให้เพิ่มพูนขึ้นไปอีก

พญาจันทราชาครองราชย์ถึงปี ๒๑๐๙ เมื่อพระชนมายุ ๘๐ พรรษาก็เสด็จสวรรคต พระโอรสจึงขึ้นครองราชย์ทรงพระนาม “สมเด็จพระโองการ พระบรมราชารามาธิบดี” (พระบาทบรมราชาที่ ๓) หรือ“สมเด็จพระปรมินทราชา”

ถือเป็น “พระยาละแวกองค์ที่ ๒” ในประวัติศาสตร์

พระยาละแวกองค์ที่ ๒ และยุทธศาสตร์ฟื้นฟูอาณาจักรละแวก

ถ้าลองถามคนไทยว่ารู้จักสมเด็จพระปรมินทราชาหรือไม่ คำตอบร้อยละร้อยย่อมบอกว่าไม่รู้จัก

แต่ถ้าถามว่าเคยได้ยินว่ามีทัพละแวกมาตีกรุงศรีอยุธยาหรือไม่ บางคนจะบอกว่าจำได้รางๆ

ผมก็ไม่ต่างจากคนไทยจำนวนมากที่รู้จากแบบเรียนสมัยมัธยมว่า มี ๑ หรือ ๒ ครั้งที่ทัพละแวกบุกเข้ามาถึงชานพระนครศรีอยุธยาในยามที่อยุธยาอ่อนแอที่สุดหลังเสียกรุงในปี ๒๑๑๒

ถ้าเชื่อแบบเรียน นี่คือการ “ลอบกัด” และ “ซ้ำเติม” ที่เจ็บแสบที่สุด

ทว่าเมื่อค้นคว้ามากขึ้นจึงพบว่า สงครามที่จำได้รางๆ เกิดขึ้นในสมัยที่สมเด็จพระปรมินทราชายึดกุมยุทธศาสตร์ฟื้นฟูกรุงละแวกจนเป็นแรงขับดันให้พระองค์ตัดสินพระทัยโจมตีกรุงศรีอยุธยา

อาจารย์ศานติ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์กัมพูชาอธิบายว่า การโจมตีกรุงศรีอยุธยาในยามอ่อนแอนั้นถือเป็นเรื่องปรกติ  ด้วยนับตั้งแต่เสียเมืองพระนคร ประชากรในแว่นแคว้นกัมพูชาก็ลดลง การโจมตีเพื่อกวาดต้อนผู้คนจึงไม่แปลก และไม่ต่างจากสิ่งที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงกระทำกับหงสาวดีในยามที่พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงยกทัพออกไปจัดการหัวเมืองทางเหนือหลังจากขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ซึ่งการโจมตีและกวาดต้อนของกรุงศรีอยุธยาก็ย่อมถูกคนหงสาวดีมองเป็น “ประเทศราชที่ชอบลอบกัด” ดุจเดียวกัน

พระปรมินทราชาโจมตีอยุธยาครั้งแรกในปี ๒๑๑๓ พงศาวดารเขมร จ.ศ. ๑๒๑๗ ระบุว่า ทรง “ตีเมืองนครราชสีมา แขวงกรุงไทย ได้เชลยเป็นอันมาก แล้วเสด็จกลับคืนมา” ซึ่งแปลว่ากองทัพละแวกโจมตีหัวเมืองด้านตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงแค่นครราชสีมา แต่หลักฐานไทยคือ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ ให้ข้อมูลเป็นหนังคนละม้วนว่ากองทัพละแวกบุกถึงชานพระนคร “ยืนช้างตำบลสามพิหาร แลได้รบพุ่งกัน แลชาวในเมืองพระนครยิงปืนออกไป ต้องพญาจามปาธีราชตายกับคอช้าง ครั้งนั้นศึกพญาละแวกเลิกทัพกลับคืนไป”

ฉบับไหนคือความจริงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป แต่หากฉบับไทยจริงก็นับว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ในภาวะคับขัน ด้วยการบุกถึงชานพระนครได้ย่อมสะท้อนว่าระบบป้องกันของอยุธยาอยู่ในภาวะง่อยเปลี้ย  ยิ่งเมื่อตรวจสอบช่วงเวลาผมยังพบว่าขณะนั้นอยู่ในช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่มีการเปลี่ยนคณะขุนนางใหม่ทั้งหมดอันเป็นผลโดยตรงจากการกวาดต้อนผู้คนของพระเจ้าบุเรงนองในคราวเสียกรุงครั้งที่ ๑ การบริหารราชการแผ่นดินหลายอย่างจึงยังไม่ลงตัว การมีศึกมาประชิดเมืองหลวงจึงเป็นเรื่องใหญ่

ยิ่งหากอ่านพงศาวดารไทยที่ชำระในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ซึ่งแม้มีน้ำหนักน้อยแต่ก็สะท้อนภาวะระส่ำระสายของกรุงศรีอยุธยาได้ชัดเจนผ่านการบรรยายว่าเหล่าเสนาบดีส่วนใหญ่ถึงกับทูลสมเด็จพระมหาธรรมราชาให้ลี้ภัยไปพิษณุโลก มีเสนาบดีเพียงคนเดียวที่ทัดทานให้พระองค์ลองสู้รบหยั่งกำลังเสียก่อน

ผมอยากรู้ว่าพระยาละแวกมายืนช้างใกล้กรุงเพียงใด จึงไปดู ณ สถานที่จริงคือ “ตำบลสามพิหาร” ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งของ “วัดสามวิหาร” ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา แล้วพบว่าตำบลนี้เป็นชัยภูมิที่ดีสำหรับแม่ทัพที่จะกรีฑาพลเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ด้วยติดตัวเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ห่างจากกำแพงกรุงมากนัก อีกทั้งก่อนหน้านี้เคยปรากฏในพงศาวดารมาแล้วว่า พระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้ก็เคยมายืนช้าง ณ ที่แห่งนี้ในคราวโจมตีกรุงศรีอยุธยาปี ๒๑๐๖ ที่คนไทยรู้จักกันดีว่าเป็น “สงครามช้างเผือก”

พระสงฆ์รูปหนึ่งที่วัดสามวิหารบอกผมว่า ทุกวันนี้คนแถววัดไม่รู้จักพระยาละแวก ถ้าอยากรู้ให้อ่านแผ่นพับประวัติวัดที่ทำแจกนักท่องเที่ยวซึ่งผลิตโดยกรมศิลปากร  ในแผ่นพับนั้นเล่าเรื่องแบบเดียวกับที่ปรากฏในพงศาวดารไทยและอธิบายว่าวัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโบราณสถานในวัดที่หลงเหลือมาจากยุคนั้นจำนวนหนึ่ง เช่นใบเสมาเก่าจำนวนมาก

ศึกครั้งถัดมาที่ปรากฏในพงศาวดารว่าละแวกโจมตีอยุธยาคือศึกในปี ๒๑๑๘

เช่นเคย พงศาวดาร ๒ ฝ่ายบันทึกรายละเอียดต่างกัน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ บอกว่า คราวนี้ทัพละแวกยกมาทางปากน้ำสมุทรปราการ ตั้งทัพที่ “ตำบลพะแนงเชีง” (ปัจจุบันมีจุดสังเกตคือ วัดพนัญเชิงด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมือง) แต่ต่อมาก็ถอนทัพกลับ “แลจับเอาคน ณ เมืองปักใต้ (นนทบุรี ธนบุรี) ไปครั้งนั้นมาก” ส่วนพงศาวดารกัมพูชามีเพียง เอกสารมหาบุรุษเขมร ที่เล่าเรื่องราวลักษณะเดียวกัน

เมื่อผมไปสืบเรื่องนี้ที่วัดพนัญเชิงก็พบว่าคนที่วัดพนัญเชิงไม่รู้จักพระยาละแวก ประวัติวัดที่ถูกเผยแพร่ก็เน้นตำนานกำเนิดวัดที่มีมาก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาและเรื่อง “ซำปอกง” ซึ่งสะท้อนการติดต่อค้าขายระหว่างอยุธยากับเมืองจีนมากกว่า

อย่างไรก็ตามหากการโจมตีในปี ๒๑๑๘ มีจริง ก็นับว่าเป็นการโจมตีกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายในรัชกาลสมเด็จพระปรมินทราชา พงศาวดารเขมร จ.ศ. ๑๒๑๗ เล่าว่านอกจากพระยาละแวกองค์นี้จะทำศึกกับอยุธยาแล้วยังทำศึกกับอาณาจักรล้านช้างจนได้รับชัยชนะถึง ๒ ครั้งในปี ๒๑๑๔ และ ๒๑๑๙ โดยคู่สงคราม คือ สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช และอุปราชล้านช้าง ตามลำดับ

เมื่อพระชนมายุ ๕๗ พรรษา สมเด็จพระปรมินทราชาก็สวรรคต ตอนนี้เองที่กษัตริย์หนุ่มซึ่งมีพระชนมายุ ๒๘ พรรษาพระนามว่า สมเด็จพระมหินทราชา (คนไทยเรียก “นักพระสัตถา”) ทรงขึ้นครองราชย์ต่อ  จากนั้นทรงแต่งตั้งพระอนุชาคือ สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ (คนไทยเรียก “พระศรีสุพรรณมาธิราช”) เป็นอุปราชฝ่ายหลัง (วังหลัง)

พระยาละแวกองค์ที่ ๓ และเค้าลางศึกพระนเรศ (วร)

พระยาละแวก2

ไม่ต่างจากคนไทยจำนวนมาก ในบรรดาพระยาละแวกที่มีหลายพระองค์ ผมรู้จักและคุ้นเคยกับเรื่องของ “สมเด็จพระมหินทราชา” ที่คนไทยเขียนและออกเสียงว่า “นักพระสัตถา” มากที่สุด

และที่ผ่านมาเมื่อพูดถึง “พระยาละแวก” ก็มักเข้าใจว่าหมายถึงพระยาละแวกพระองค์นี้

ความรับรู้นี้สอดคล้องกับข้อมูลในพงศาวดารกัมพูชาและไทยที่ให้ไว้ว่า นักพระสัตถาทรงสัมพันธ์กับกรุงศรีอยุธยามากที่สุดทั้งด้านมิตรไมตรีและการศึก

ช่วงต้นรัชกาลของพระองค์ ทรงรักษายุทธศาสตร์กวาดต้อนผู้คนต่อจากรัชกาลสมเด็จพระปรมินทราชา  ในปี ๒๑๒๑ ทรงยกทัพเรือกำลังพล ๓ หมื่นคนเข้าโจมตีเพชรบุรีซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางทิศใต้ของอยุธยา ศึกครั้งนี้ไม่ปรากฏในพงศาวดารกัมพูชาฉบับใด แต่กลับปรากฏในพงศาวดารไทยหลายฉบับ เช่น พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ เล่าว่า เพชรบุรีป้องกันเมืองไว้ได้และมีขุนนางละแวกคนหนึ่งชื่อ “พระยาจีนจันตุ” หนีเข้ามาสวามิภักดิ์แต่ไม่นานนักก็หนีกลับไป

อ่านถึงตรงนี้หลายคนนึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระ-นเรศวรฯ ประทับเรือพระที่นั่งออกติดตามพระยาจีนจันตุที่โล้สำเภาหนีออกอ่าวไทยจนเกิด “ศึกยุทธนาวีกับพระยาจีนจันตุ” ขึ้นมา แต่ความจริงคือวีรกรรมนี้ไม่ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ ซึ่งเป็นพงศาวดารที่น่าเชื่อถือที่สุดของไทยแต่อย่างใด กลับไปปรากฏในพงศาวดารซึ่งชำระในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ห่างจากเหตุการณ์จริงหลายร้อยปี

นักพระสัตถาทรงโจมตีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในฤดูแล้งปี ๒๑๒๔  พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ ให้รายละเอียดศึกยกที่ ๒ ไว้สั้นๆ ว่า “เดือน ๓ (กุมภาพันธ์) นั้น พญาลแวกยกพลลงมาเมืองเพชรบูรีย ครั้งนั้นเสียเมืองเพชรบูรียแก่พญาลแวก” ส่วนรายละเอียดการรบไปปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ว่าทัพละแวกยกมา ๗ หมื่นคน เข้าล้อมเมืองอยู่ ๓ วันก่อนจะเข้าตีด้วยการใช้บันไดพาดกำแพง ขับพลทหารปีนบันไดปล้นเมืองด้วยความลำบากเพราะชาวเมือง “รบพุ่งป้องกันเมืองเป็นสามารถ ข้าศึกชาวลแวกต้องศาสตราวุธตายเปนอันมาก จะปีนป่ายปล้นมิได้ก็พ่ายออกไป” โดยเป็นเช่นนี้ถึง ๓ ครั้งก่อนจะตีเมืองสำเร็จในครั้งที่ ๔ จากการ “ปล้นคลองกระแชงแลประตูบางจาน ชาวเมืองต้านทานเปนสามารถ ข้าศึกเผาหอรบทลายแล้วปีนกำแพงเข้าได้ในที่นั้น…”

การโจมตีเพชรบุรีครั้งที่ ๒ นี้ปรากฏใน พงศาวดาร-เขมร จ.ศ. ๑๒๑๗ สั้นๆ ว่า “พระองค์ให้ยกกองทัพไปตีเขตแดนกรุงไทยชนะได้ครอบครัวบ้าง แล้วเสด็จกลับมา” ซึ่งถ้าศึกนี้เกิดจริง ความน่าสนใจคือเส้นทางเดินทัพ ด้วยถ้าดูตามลักษณะภูมิศาสตร์ กรุงละแวกอยู่คนละฟากอ่าวไทยกับเมืองเพชรบุรี นักพระสัตถาทรงทำอย่างไรในการยกทัพตัดอ่าวไทยตอนบนในยุคที่เทคโนโลยีการเดินเรือยังไม่ก้าวหน้า  ทั้งนี้อาจารย์ศานติวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ว่า ทัพละแวกน่าจะอาศัยลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือช่วงปลายปี ๒๑๒๓ ข้ามอ่าวไทยมาขึ้นบกที่ตำบลบางจาน (ยุคนั้นยังเป็นชายฝั่ง) เมืองเพชรบุรี จากนั้นล่องเรือเข้าแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นบกที่ “ประตูบางจาน” แล้วทำศึกในช่วงฤดูแล้งก่อนลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้รอบใหม่จะเริ่มพัดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และลมนี้เองที่ส่งกองทัพละแวกข้ามอ่าวไทยกลับกัมพูชาในที่สุด

ทุกวันนี้ที่เพชรบุรียังมี “เรื่องเล่าประหลาด” ที่ทำให้คนเรียนประวัติศาสตร์หงายหลัง คือความรับรู้ของคนที่อาศัยอยู่ในตำบลบางจานซึ่งนำเรื่องพระยาละแวกไปปะปนกับสงครามระหว่างหงสาวดีกับอยุธยา  โดยชาวบางจานคนหนึ่งบอกผมว่าไม่เคยมีทัพกัมพูชามาที่นี่ มีแต่ “ทัพหงสาวดี (พม่า) ที่นำโดยพระยาละแวก (เขมร)”

บุญหลง ทับสี หรือ “ปู่พิมพ์” วัย ๗๔ ปี ผู้อาวุโสชาวบางจานบอกว่า เรื่องพระยาละแวกนั้นเคยได้ยินเพียงครั้งเดียวจากลิเกที่มาเล่นในหมู่บ้านสมัยเด็ก “เขาเล่าว่าพระยาละแวกเป็นกบฏ เป็นไส้ศึก” และเล่าต่อไปว่าตำบลบางจานมีเทศกาลสำคัญที่เกี่ยวกับศึกนี้คือ “งานกระจาด” ซึ่งจัดขึ้นในปีที่มีเดือน ๘ สองหน (เฉลี่ย ๓ ปี จัด ๑ ครั้ง) ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ หนที่ ๒ ของปีนั้น  ช่วงก่อนวันงานทุกบ้านจะสาน “กระจาด” ทำขนมไทย เช่น กะละแม ขนมเปียกปูน ข้าวต้มมัด ใส่กระจาด ถึงวันงานก็นำขนมและอาหารมาใส่รวมกันใน “กระจาดใหญ่” นำไปถวายพระสงฆ์ และจัดเป็น “กระจาดกลาง” ถวาย “ศาลเจ้าพ่อใหญ่” ริมถนนเลียบคันคลองชลประทานในตำบลบางจาน

ส่วนเหตุผลที่ต้องจัดพิธีบนถนนสายนี้คือในอดีตพื้นที่ส่วนหนึ่งของถนนเคยเป็น “ลานวัดนอกทุ่ง” ที่มีตำนานเล่าว่า ในสมัยโบราณชาวบางจานหนี “ทัพพม่าที่นำโดยแม่ทัพชื่อพระยาละแวก” มาหลบใต้ต้นไทรใหญ่ เมื่อจวนตัวจึงอธิษฐานขอเทพารักษ์ว่า ถ้ารอดตายจะจัด “งานปี” เซ่นสรวงถึงรุ่นลูกหลาน ในที่สุดก็รอดชีวิตมาจัด “งานปี” ซึ่งกลายมาเป็น “งานกระจาด” นั่นเอง

ตอนไปสำรวจสถานที่ในตำบลบางจาน ผมพบว่าศาลเจ้าพ่อใหญ่นั้นตั้งอยู่ริมถนนเลียบคันคลองชลประทาน ด้านหลังเป็นที่รกร้าง ดูเผินๆ ก็ไม่ต่างกับศาลอื่นๆ ที่มีอยู่ในตำบลเดียวกันคือมีรูปทรงเป็นเรือนไทยยกพื้น ภายในมีรูปเคารพคล้ายๆ ในศาลพระภูมิทั่วไป

อย่างไรก็ตามถึงวันนี้งานกระจาดกลายเป็นงานสำคัญของชุมชนไปแล้ว ดังคำขวัญตำบลที่ว่า “พระบรมสารีริกธาตุศรีสถาน ถิ่นโบราณตำนานหรุ่ม ชุมนุมกระจาด ยอดนักวาดขรัวอินโข่ง” โดยหน้าที่แฝงคือเป็นงานรวมญาติชาวบางจานที่มีทั้งหมด ๙ หมู่บ้าน ทุกๆ ๓ ปี

ปู่พิมพ์บอกผมว่า จริงๆ แล้วยังมีตำนานงานกระจาดอีกหลายสำนวน คงเพราะเป็นการถ่ายทอดแบบประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) มากกว่าจะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร  อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้เป็นเบาะแสยืนยันว่าในอดีตเพชรบุรีคือหัวเมืองสำคัญและมิได้อยู่นอกรัศมีการโจมตีของพระยาละแวกแต่อย่างใด

ย้อนกลับไปปี ๒๑๒๕ หลังโจมตีเพชรบุรีได้ปีเดียว นักพระสัตถาก็ทรงเดินหน้าต่อด้วยการส่งกองทัพ ๕,๐๐๐ คนไปโจมตีหัวเมืองด้านตะวันออกของกรุงศรีอยุธยาแถบนครนายก แต่ก็ถูกสมเด็จพระนเรศวรฯ ตอบโต้จนต้องถอยกลับ

ทว่าไม่นานนักพระองค์ก็เปลี่ยนนโยบายแบบกะทันหัน คือหันมามีไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา  หลังจากนั้นความสัมพันธ์ของ ๒ อาณาจักรดำเนินไปด้วยดีก่อนที่พระราชไมตรีจะถูกทดสอบในฤดูแล้งปี ๒๑๒๙ เมื่อพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงผู้ถือพระองค์ว่าสืบทอดสถานะพระจักรพรรดิราชต่อมาจากพระเจ้าบุเรงนองนำกองทัพใหญ่ ๒๕๒,๐๐๐ คนมาตีกรุงศรีอยุธยาฐานท้าทายอำนาจ

พงศาวดารไทยที่ชำระช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ระบุว่า เมื่อข่าวศึกนี้ไปถึงกรุงละแวก นักพระสัตถาก็โปรดฯ ให้สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณยกทัพมาช่วย โดยหลังขับไล่ทัพหงสาวดีไปได้ก็เกิดเหตุหมางใจกันด้วยสมเด็จพระนเรศวรฯ ไม่พอพระทัยสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณที่ไม่ถวายบังคมขณะพระองค์เสด็จกลับจากสนามรบทางชลมารคจนมีพระราชดำรัสให้ทหารตัดหัวเชลยชาวเขมรไปเสียบประจานหน้าเรือพระที่นั่งสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ

เช่นเคย เรื่องนี้ไม่ปรากฏในหลักฐานชั้นต้นทั้งของไทยและกัมพูชาแต่อย่างใด

ศึกคราวเสียกรุงละแวก ไม่มีพิธีปฐมกรรมพระยาละแวก ?

ที่ผ่านมาเราจดจำกันว่ากรุงละแวกล่มสลายด้วยกองทัพสมเด็จพระนเรศวรฯ

แต่หลักฐานจำนวนมากชี้ว่านั่นเปรียบได้เพียง “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่วางลงบนโครงสร้างผุพังของกรุงละแวกที่กำลังจะล้มอยู่รอมร่อให้พังพินาศอย่างสมบูรณ์

ศิลาจารึกที่นักอ่านจารึกให้ชื่อว่า IMA3 ได้รับการค้นพบที่ปราสาทนครวัดซึ่งคาดว่าจารึกขึ้นในปี ๒๑๒๒ (รัชสมัยนักพระสัตถา) ได้บันทึกเบาะแสเรื่องนี้ไว้ว่า ต้นรัชกาลนักพระสัตถาละแวกสงบสุข พระมหากษัตริย์ทรงทำนุบำรุงศาสนา แต่เค้าลางความวุ่นวายในราชสำนักและภัยจากอยุธยาก็ถูกคาดการณ์ไว้ โดยศิลาจารึกเขียนว่านักพระสัตถาทรงส่งคนไปบูรณะปราสาทนครวัดที่ถูกทิ้งร้าง โดยขอให้ผลบุญจากการปฏิสังขรณ์ “พระพิษณุโลกปราการ” (ปราสาทนครวัด) นั้นบันดาลให้ “…ชนะสรรพศัตรูทั้งผองอันมีเป็นอันมาก ถ้ามี
ราชศัตรู…ขอเทพยดาทั้งผองโน้มน้าวจิตใจราชศัตรูนั้นอย่าให้มาเบียดเบียนกัมพุชประเทศนี้…ขอราษฎรทั้งผองในกัมพุชประเทศอยู่สุขเกษมศานต์ อย่ามีจลาจลเลย…”

เจ็ดปีหลังสร้างจารึกหลักนี้ เหตุการณ์ก็เลวร้ายลง หลักฐานจำนวนมากชี้ว่าขณะที่กรุงศรีอยุธยาเข้มแข็งขึ้น กรุงละแวกกลับมีปัญหาภายใน  พงศาวดารเขมร จ.ศ. ๑๒๑๗ ระบุว่า ในสมัยนั้นนักพระสัตถาทรงแต่งตั้งพระโอรส ๒ พระองค์ องค์หนึ่งมีพระชนมายุ ๑๑ พรรษา และอีกองค์หนึ่งเพียง ๖ พรรษา ขึ้นครองราชย์ร่วมกับพระองค์ ทำให้ราชสำนักละแวกมีกษัตริย์ ๓ องค์ในช่วงเวลาเดียวกัน

สถานการณ์นี้ก่อความยุ่งยากให้ระบบบริหารราชการ เนื่องจากกษัตริย์องค์หนึ่งมี “สำรับขุนนาง” ๑ คณะ เท่ากับละแวกมีผู้ปกครอง ๓ คณะ ยังไม่นับคณะขุนนางของสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ

เหตุผลที่ทรงทำเช่นนั้นอาจารย์ศานติวิเคราะห์ว่า เนื่องจาก “ต้องการคานอำนาจพระศรีสุริโยพรรณ แต่ความวุ่นวายก็ตามมา กษัตริย์ที่ตั้งใหม่ก็มีพระชันษาน้อยมาก”

ประวัติศาสตร์กัมพูชาสะท้อนวิกฤตนี้ออกมาผ่านตำนานที่ปรากฏใน พงศาวดารเมืองละแวก จ.ศ. ๑๑๗๐ ว่า พระนเรศวรรับสั่งให้จารบุรุษ ๒ คนบวชเป็นพระภิกษุนามสุระปัญโญและติกะปัญโญ แล้วธุดงค์มาอาศัยกับพระสังฆราชกรุงละแวกก่อนจะทำไสยศาสตร์ทำให้นักพระสัตถามีพระจริยาวัตรผิดเพี้ยน พระอัครมเหสีประชวร ในที่สุดนักพระสัตถาก็นิมนต์พระภิกษุ ๒ รูปนี้มารักษา และถูกวางอุบายให้ทำลายพระพุทธรูปอัฏฐารส ๔ องค์ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพญาจันทราชาลง ซึ่งนักพระสัตถาก็ทรงปฏิบัติตาม

อาจารย์ศานติชี้ว่า ตำนานนี้น่าจะเกิดในยุคหลังโดยถูกสร้างขึ้นเพื่อเล่าถึงภัยจากกรุงศรีอยุธยาและอธิบายความเสื่อมถอยของละแวก ด้วยการทำลายพระพุทธรูปนั้นหมายถึงทำลายขวัญกำลังใจชาวเมือง  ส่วนกรุงศรีอยุธยาเองแม้จะติดศึกอยู่กับหงสาวดีแต่ก็เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ  การโจมตีของพระยาละแวกยังทำให้สมเด็จพระนเรศวรฯ พบว่าละแวกคือเมืองเดียวที่มีศักยภาพคุกคามกรุงศรีอยุธยาในยามที่พระองค์มีพระประสงค์จะไปโจมตีกรุงหงสาวดี  การได้ละแวกมาอยู่ในอำนาจจึงเป็นเรื่องจำเป็นหากพระองค์ไม่ต้องการพะวงหลัง

ดังนั้นในปี ๒๑๓๐ เมื่อเสร็จศึกกับทัพหงสา สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงกรีฑาทัพมาล้อมกรุงละแวก แต่ล้อมได้เพียง ๓ เดือนก็ต้องถอยกลับเนื่องจากไม่ชำนาญภูมิประเทศและขาดแคลนเสบียง

หกปีหลังจากนั้น (พ.ศ. ๒๑๓๖) หลังชนะศึกยุทธหัตถีและขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระนเรศวรฯ กรีฑาทัพกลับมาอีกครั้ง พงศาวดารหลายฉบับระบุว่าพระองค์นำกำลังพล มากกว่า ๑ แสนนายพุ่งเข้าหากรุงละแวกจาก ๒ ทิศทาง คือ ทางบก เข้าทางอรัญประเทศ ทางน้ำ ส่งทัพเรือมาทางอ่าวไทยผ่านเมืองพุทไธมาศ (ฮาเตียน)อ้อมแหลมญวน แล้วเข้าสู่ดินแดนตอนในของกัมพูชาทางปากแม่น้ำโขง (ปัจจุบันคือที่ราบปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม)

หนังสือ กรุงศรีอยุธยาในเอกสารหลักฐานสเปน เขียนโดย จันทร์ฉาย ภัคอธิคม อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผย “เอกสารทางการ” ชุดหนึ่งที่ทำให้เราทราบว่านักพระสัตถาคาดการณ์และหาทางรับมือศึกนี้ไว้เช่นกัน  เนื้อหาของเอกสารนั้นแสดงถึงการติดต่อระหว่างนักพระสัตถากับทางการสเปนที่กรุงมะนิลา โดยทรงแต่งตั้ง ดิเอโก เบโลโซ (Diego Beloso) ชาวสเปนที่มาแสวงโชคเป็นราชทูตไปหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในช่วงต้นปี ๒๑๓๖ ช่วงเดียวกันกับที่ทัพสยามเริ่มเคลื่อนออกจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอกำลังสนับสนุน แต่กว่าสเปนจะตัดสินใจช่วย (เพราะเห็นประโยชน์ทางการค้าและหวังตักตวงทรัพยากร) ก็สายเกินไป

พงศาวดารเมืองละแวก จ.ศ. ๑๑๗๐ เล่ายุทธศาสตร์ตั้งรับสมเด็จพระนเรศวรฯ ของนักพระสัตถาว่าทรงเปิดทางให้ทัพอยุธยาเดินเข้ามาโดยสะดวก ทรงสั่งย้ายราษฎรให้พ้นเส้นทางเดินทัพด้วยมีพระราชดำริว่า “…จะกะเกณฑ์กองทัพออกรับสู้รบก็พอจะได้อยู่ เห็นว่าผู้คนจะล้มตายเป็นอันมาก ก็ควรเราจะชนช้างด้วย พระนเรศให้เป็นศึกคชพยุหสำหรับกษัตริย์ ถึงมาดจะแพ้แลชนะ จะให้เป็นเดชะพระเกียรติยศปรากฏไปในภายหน้า”

ต้นเดือนมีนาคม ๒๑๓๖ เมื่อทัพอยุธยามาถึง “ทุ่งบุเรน” ห่างกำแพงเมืองละแวก ๑๐๐ เส้น (ประมาณ ๕ กิโลเมตร) นักพระสัตถาทรงช้างพระที่นั่งออกไปหวังทำศึกยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรฯ ทว่าเมื่อช้างพระที่นั่ง “แลเห็นช้างพระนเรศก็ให้ปัติเหตุตกใจกลัวทะลวงขอแตกตื่นเสียกระบวน” พระองค์จึงต้องถอยเข้าเมือง “สั่งเรือพระที่นั่ง แล้วชวนพระอรรคมเหสี ทั้งพระราชบุตรพระราชธิดาลงเรือพระที่นั่งไปอาศัยอยู่ ณ เมืองศรีสุนทร (ภายหลังเรียกกันว่า “ศรีสันธร”) แล้วตลวดเลยไปเมืองลาวล้านช้างเลยทีเดียว”

สำหรับเหตุการณ์นี้ หลักฐานไทยคือ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ เล่าว่า หลังกรุงละแวกแตก วันที่ ๖ มีนาคม ๒๑๓๖ สมเด็จพระนเรศวรฯ ก็ “ได้ตัวพญาศรีสุพรร” คือสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณและไม่กล่าวถึงกรณี “ทำพิธีปฐมกรรมประหารพระยาละแวกเอาเลือดล้างพระบาท” แต่อย่างใดซึ่งแตกต่างจากพงศาวดารไทยที่ได้รับการชำระขึ้นในชั้นหลัง

ทั้งนี้จากหลักฐานชั้นต้นเท่าที่ค้นพบในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ชี้ว่าพิธีปฐมกรรมไม่เคยเกิดขึ้น เช่น หลักฐานของชาวตะวันตกอย่าง จดหมายเหตุของ ดร. อันโตนิโอ มอร์ก้า ของ ดร. อันโตนิโอ เดอ มอร์ก้า รองผู้สำเร็จราชการหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ซึ่งรวบรวมเรื่องของชาวสเปนที่มาแสวงโชคในกัมพูชา แล้วทำรายงานกลับไปยังกรุงมะนิลา ตีพิมพ์เป็นภาษาสเปนในปี ๒๑๕๑ ได้บันทึกเกี่ยวกับเรือสำเภาลำหนึ่งที่มีคนจีน คนเขมร คนสยาม และคนในบังคับสเปนซึ่งเข้าไปกัมพูชาก่อนกลับมาถึงมะนิลาในปี ๒๑๓๗ หรือหลังกรุงละแวกแตก ๑ ปี ไว้ดังนี้

“เมื่อคนเหล่านี้อยู่ในราชอาณาจักรกัมพูชาที่เมือง จัตุรมุข กับพระเจ้า Langara (ละแวก) กษัตริย์แห่งกัมพูชานั้น พระเจ้าแผ่นดินสยามกรีฑาทัพมาโจมตีพระองค์ด้วยรี้พลและ (กองทัพ) ช้างมากมาย ยึดพระนคร พระราชวัง และพระคลังสมบัติได้ พระเจ้ากัมพูชาจึงเสด็จหนีไปเมืองเหนือจนถึงอาณาจักรลาว…”

เรือสำเภาลำนี้นับว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กรุงละแวกแตกโดยตรง ด้วยชาวโปรตุเกสและคาสติล(Castile-แคว้นหนึ่งของสเปน) ผู้ควบคุมสำเภาลำนี้ รวมทั้งทาสชาวกัมพูชา ได้ถูกทัพสยามจับและกวาดต้อนมาลงเรือระหว่างทำศึกกับกรุงละแวก แต่เมื่อเรือออกเดินทางกลับสยาม ชาวสเปนได้ร่วมกับชาวจีนซึ่งเป็นลูกเรือยึดสำเภาคืนก่อนนำเรือกลับไปที่มะนิลา

ดังนั้นสิ่งที่ยืนยันได้แน่ชัดคือสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงได้สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณเป็นองค์ประกัน กวาดต้อนผู้คน ทำลายศักยภาพทางทหารของกรุงละแวก ที่สำคัญคือการยืนยันฐานะ “พระจักรพรรดิราช” เหนือกรุงละแวกได้สำเร็จหลังยืนยันมาครั้งหนึ่งแล้วด้วยการเอาชนะกองทัพจากหงสาวดี

เพียงแต่พระชะตาของนักพระสัตถาไม่ได้สิ้นสุดลงอย่างที่พงศาวดารฝ่ายไทยบันทึกไว้

บทอวสานที่ “สตรึงเตรง”

พระยาละแวก3

ถ้าหากนักพระสัตถาไม่ถูกประหาร คำถามคือพระองค์เสด็จไปลี้ภัยที่ไหน

การลี้ภัยของนักพระสัตถาปรากฏในพระราชพงศาวดารกัมพูชาหลายฉบับ ทั้งหมดมีเนื้อความคล้ายกันว่าพระองค์ล่องเรือลงมาทางทิศใต้ตามแม่น้ำสาบ ก่อนหักหัวเรือเข้าสู่แม่น้ำโขงแล้วล่องเรือทวนน้ำขึ้นไปทางทิศเหนือหยุดที่เมืองศรีสันธร แล้วไปต่อจนถึงเมืองลาวล้านช้าง  หลักฐานกัมพูชาอันระบุเมืองที่นักพระสัตถาไปประทับอย่างชัดเจนคือ เอกสารมหาบุรุษเขมร ซึ่งชำระหลังเหตุการณ์หลายร้อยปี บันทึกว่านักพระสัตถา “ลงเรือพระที่นั่งไปประทับที่เมืองสทึงเตรง”

เมื่อกางแผนที่ประเทศกัมพูชาจะพบว่าเมือง “ศรีสันธร” (หรือจังหวัดกำพงจามในปัจจุบัน) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงตามเส้นทางลี้ภัยที่พงศาวดารให้เบาะแสมา ส่วนเมือง “ลาวล้านช้าง” สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองที่เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของล้านช้างหรือหัวเมืองในประเทศลาวซึ่งอยู่ในระยะที่ไปถึงทางเรือได้ ซึ่งน่าจะตรงกับเมืองสตรึงเตรงนั่นเอง

กลางปี ๒๕๕๕ ผมตามรอยเส้นทางลี้ภัยของนักพระสัตถาโดยขึ้นรถโดยสารที่วิ่งระหว่างกรุงพนมเปญกับเมืองเหล่านี้  รถวิ่งไปตามทางหลวงหมายเลข ๗ ที่บางช่วงลาดยาง บางช่วงมีสภาพเป็นถนนลูกรัง ถนนสายนี้พาผมออกจากกรุงพนมเปญไปทางเหนือก่อนเลี้ยวไปทางทิศตะวันออกวิ่งเลียบแม่น้ำโขงผ่านกำพงจาม เมืองเล็กๆ ซึ่งมีกลุ่มคนเชื้อสายจามอาศัยอยู่ จากนั้นเลี้ยวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จนเกือบถึงชายแดนกัมพูชา-เวียดนาม ก่อนจะวกขึ้นเหนือกลับมาเลียบแม่น้ำโขงจนถึงเมืองกระแจะ (Kratie) ที่เต็มไปด้วยตึกสไตล์ฝรั่งเศส จากนั้นก็มุ่งหน้าขึ้นไปทางเหนือ ในที่สุดหลังใช้เวลาไป ๑๒ ชั่วโมงผมก็ถึงสตรึงเตรงในช่วงค่ำ

ดูตามแผนที่จะพบว่าสตรึงเตรงตั้งอยู่ใกล้แนวพรมแดนกัมพูชา-ลาว ตัวเมืองอยู่ด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงที่ไหลมาจากประเทศลาว  ตามประวัติศาสตร์สตรึงเตรงมีชื่อเดิมเป็นภาษาลาวว่า “เชียงแตง”  ด้วยอยู่ในอำนาจของอาณาจักรล้านช้างคนสตรึงเตรงส่วนหนึ่งจึงมีเชื้อสายลาว

สตรึงเตรงเป็นเมืองเล็กๆ มีคนไม่มาก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่แวะพักที่นี่ก่อนเดินทางไปท่องเที่ยวต่อในลาวตอนใต้หรือลงไปกรุงพนมเปญ  คนสตรึงเตรงหลายคนบอกว่าไม่รู้จัก “นักพระสัตถา” และบอกว่าที่นี่เป็นเมืองที่รอการพัฒนา เป็นที่นิยมของนักเดินทางนิยมธรรมชาติ ด้วยในสตรึงเตรงมีทั้งป่าเขาและแม่น้ำ  เมื่อเร็วๆ นี้สตรึงเตรงยังได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีนสร้าง “สะพานมิตรภาพจีน-กัมพูชา” ข้ามแม่น้ำโขงเพื่อเชื่อมภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาเข้าด้วยกัน

ด้วยระยะทางที่ไม่ไกลกรุงละแวกเกินไปหากเดินทางทางเรือ ชาวเมืองส่วนหนึ่งมีเชื้อสายลาว เป็นเมืองที่มีประวัติเคยอยู่ในอำนาจอาณาจักรล้านช้าง และปรากฏตำแหน่งอยู่ใน เอกสารมหาบุรุษเขมร คือข้อสนับสนุนในทฤษฎีที่ว่าเมืองนี้คือ “เมืองลาวล้านช้าง” ตามที่พงศาวดารระบุ

หากเป็นเช่นนั้นจริง ย้อนกลับไปปี ๒๑๓๖ สตรึงเตรงคือที่ประทับสุดท้ายของ “นักพระสัตถา”

แต่ก็มีบันทึกอันมีรายละเอียดแตกต่างออกไปเช่นกัน โดยเฉพาะ จดหมายเหตุของ ดร. อันโตนิโอ มอร์ก้า หลักฐานสเปนซึ่งเป็นปากคำของนายเบโลโซ ราชทูตที่นักพระสัตถาส่งไปขอความช่วยเหลือซึ่งภายหลังกลับมาที่กัมพูชาอีกครั้งแล้วพบว่ากรุงละแวกแตก เขาจึงออกตามหานักพระสัตถาโดย “สืบได้ความว่า พระยาละแวกเสด็จอยู่ในประเทศลาว จึงออกติดตามเพื่ออัญเชิญให้เสด็จกลับกรุงกัมพูชา พวกหนึ่งไปทางบก พวกหนึ่งไปทางเรือจนถึงเมืองตังเกี๋ย แล้วเดินบกไปประเทศลาวจนถึงนครหลวงของลาว (จดหมายเหตุของ ดร. อันโตนิโอ มอร์ก้า ระบุชื่อนครหลวงของลาวแห่งนี้ว่า Alanchan) จึงได้ทราบว่าพระยาละแวกสวรรคตที่นั่น พระโอรสองค์ใหญ่และพระธิดาก็สิ้นพระชนม์ด้วย” อันหมายถึงการระบุที่ประทับสุดท้ายของนักพระสัตถาว่าอยู่ที่กรุงเวียงจันทน์ไม่ใช่สตรึงเตรง

ข้อมูลในพงศาวดารกัมพูชาและเอกสารสเปนจึงไปคนละทาง  อย่างไรก็ตามหากมาดูเส้นทางจริงๆ ถ้านักพระสัตถาจะทวนแม่น้ำโขงขึ้นเหนือไปมากกว่านี้ก็เป็นไปได้ยาก ด้วยต้องผ่าน “น้ำตกคอนพะเพ็ง” ซึ่งกั้นระหว่างเขตเขมรต่ำกับภาคใต้ของลาว ดังนั้นสิ่งที่เราพอสันนิษฐานได้ขณะนี้จึงมีเพียง ปี ๒๑๓๖ ที่ประทับสุดท้ายของนักพระสัตถาต้องเป็นเมืองใดเมืองหนึ่งในอาณาจักรล้านช้าง

พงศาวดารเขมร จ.ศ. ๑๒๑๗ เล่าถึงพระชนม์ชีพช่วงลี้ภัยนี้ไว้ว่า ประทับกับพระอัครมเหสีและพระราชบุตรทั้งสอง  พอถึงปี ๒๑๓๘ เมื่อมีพระชนมพรรษาได้ ๔๓ พรรษาก็สวรรคตพร้อมพระราชบุตรองค์ใหญ่ที่มีพระชนมายุได้ ๒๓ พรรษา “ยังแต่พระบรมราชาธิราช ผู้เป็นพระอนุชา พระชันษาได้ ๑๘ ปี”

ปิดฉากพระชนม์ชีพนักพระสัตถา “พระยาละแวก” ที่คนไทยรู้จักมากที่สุดเพียงเท่านี้

สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ “พระยาละแวกองค์สุดท้าย”

พระยาละแวก5

หลักฐานกัมพูชาเล่าว่าชะตากรรมกรุงละแวกและเชื้อพระวงศ์แห่งราชสำนักกัมพูชาไม่ได้จบลงพร้อมพระชนม์ชีพนักพระสัตถา

ย้อนกลับไปช่วงที่นักพระสัตถาทิ้งกรุงละแวก พงศาวดารกัมพูชาหลายฉบับเล่าตรงกันว่า สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงกวาดต้อนทรัพย์สิน ผู้คนในเมือง จับองค์ประกันคือสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ ก่อนจะเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาโดยให้พระมหามนตรีคุมทัพ ๑ หมื่นคนเศษ อยู่ที่เมืองอุดงฤๅชัย (ปัจจุบันเรียกว่าอุดงค์มีชัย) ทางด้านทิศใต้ของกรุงละแวกเพื่อดูแลความสงบ แต่ไม่นานนักพระบาทรามาเชิงไพรเชื้อพระวงศ์กัมพูชาก็รวบรวมกำลังต่อต้านจนต้องถอยกลับกรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้นนักพระบาทรามาเชิงไพรก็ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ตั้งราชธานีที่ศรีสันธร

เท่ากับว่ากรุงศรีอยุธยามีอำนาจอยู่เหนือกัมพูชาเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

ที่น่าสนใจคือหลังจากนั้นสายสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ “องค์ประกัน” กับสมเด็จพระนเรศวรฯ กลับแนบแน่นขึ้น โดยสมเด็จพระนเรศวรฯ โปรดฯ ให้สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณกับผู้ติดตามตั้งบ้านเรือนอยู่นอกกำแพงกรุงแล้วขอ “พระเอกกระษัตรี” พระราชธิดาเป็นมเหสี เท่ากับสมเด็จพระนเรศวรฯ กลายเป็น “พระชามาดา” (ลูกเขย) ของสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ

ในห้วงเวลาเดียวกัน ภายในราชสำนักกัมพูชาก็เกิดความวุ่นวายจนต้องเปลี่ยนกษัตริย์ถึง ๔ ครั้ง ในที่สุดก็ส่งพระราชสาส์นมายังกรุงศรีอยุธยาทูลขอสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณกลับไปปกครองบ้านเมืองเพื่อสร้างความสงบ

สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงตั้งสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชา จัดเรือสำเภาไปส่งที่เมืองไพรกะบาด (จังหวัดตาแก้ว) แล้วสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณก็ไปตั้งราชธานีที่เกาะสเกษ จัดการปราบปรามชุมนุมต่างๆ ที่ตั้งตนเป็นอิสระอยู่ ๑ ปีก็ยังไม่สงบจึงส่งพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระนเรศวรฯขอพระโอรสคือสมเด็จพระไชยเชษฐา “องค์ประกัน” อีกองค์หนึ่งกลับไปช่วยราชการ สมเด็จพระนเรศวรฯ ก็พระราชทานให้พร้อมกองทัพจำนวนหนึ่ง  ถึงปี ๒๑๔๖ สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณก็ปราบหัวเมืองกัมพูชาได้ราบคาบและสถาปนาราชธานีใหม่ที่เมืองละวาเอม (ปัจจุบันคือจังหวัดกันดาล อยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงพนมเปญ) ซึ่งถือเป็นการปิดฉากราชธานี “กรุงละแวก” ลงอย่างสมบูรณ์

ปี ๒๑๔๘ เมื่อมีพระราชสาส์นจากกรุงศรีอยุธยาแจ้งข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณก็ส่งสมเด็จพระไชยเชษฐาคุมเครื่องบรรณาการไปร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่อยุธยา อันแสดงถึงสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างพระองค์กับสมเด็จพระนเรศวรฯ

พงศาวดารเมืองละแวก จ.ศ. ๑๑๗๐ บันทึกว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ พระองค์ยังรับวัฒนธรรมบางอย่างจากกรุงศรีอยุธยา เช่น ฉลองพระองค์ด้วยชุดครุย นอกจากนี้ยังฟื้นฟูพระราชประเพณี ทำให้บ้านเมืองสงบราบคาบด้วยทรง “ทศพิธราชธรรมเป็นมหันตคุณา ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอยู่เย็นเป็นสุข…ข้าวเหลือเกลืออิ่ม น้ำท่าฟ้าฝนบริบูรณ์…”

ช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ ก่อนสวรรคตไม่นานสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณสละราชสมบัติให้สมเด็จพระไชยเชษฐา  พงศาวดารกัมพูชาแต่ละสำนวนบันทึกเวลาของเหตุการณ์ต่างกัน พงศาวดารเมืองละแวก จ.ศ. ๑๑๗๐ เล่าว่า สละราชสมบัติเมื่อพระชนมายุ ๖๗ พรรษา แต่ไม่ปรากฏปีสวรรคต ขณะที่ พงศาวดารเขมร จ.ศ. ๑๒๑๗ ระบุว่าปีสวรรคตคือปี ๒๑๖๑

เมื่อสมเด็จพระไชยเชษฐาย้ายราชธานีมาที่กรุงอุดงค์มีชัย พระบรมอัฐิของสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณก็ได้รับการอัญเชิญมาประดิษฐานที่เขาพระราชทรัพย์ศูนย์กลางเมืองซึ่งยังคงปรากฏมาจนถึงทุกวันนี้

หลังจากนั้นอยุธยาก็เสื่อมอิทธิพลลงเมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ

แล้วศึกระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงอุดงค์มีชัยก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง…

ต้นปีพุทธศักราช ๒๕๕๖

หลังกลับจากสตรึงเตรง ผมมาที่อุโบสถวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อดูจิตรกรรม “ผนังที่ ๑๑” ด้านขวามือพระประธาน

ใต้ภาพมีป้ายภาษาไทยและอังกฤษว่า “สมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จยกกองทัพหลวงไปตีกรุงกำพูชาได้เมืองละแวก จับนักพระสัตถาเจ้ากรุงกำพูชาได้ ทรงทำปฐมกรรมแล้วให้ต้อนครัวเชลยกลับก่อน จึงเสด็จพระราชดำเนิรกลับคืนสู่พระนครเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๖”

จิตรกรรมฝาผนังภาพนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทย ผมรู้จักภาพนี้ครั้งแรกในแบบเรียนประวัติศาสตร์ระดับมัธยมพร้อมข้อความจาก พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (สมัยรัชกาลที่ ๔) ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์สมเด็จพระนเรศวรฯตรัสกับพระยาละแวกว่า “..เราได้ออกวาจาไว้แล้วว่า ถ้ามีชัยแก่ท่านเราจะทำพิธีประถมกรรม เอาโลหิตท่านล้างบาทาเสียให้จงได้… พระโหราธิบดีชีพ่อพราหมณ์จัดแจงการนั้นเสร็จจึงเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นบนเกย เจ้าพนักงานองครักษ์เอาตัวพระยาละแวกเข้าใต้เกย ตัดศีรษะเอาถาดรองโลหิตขึ้นไปชำระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระโหราธิบดีก็ลั่นฆ้องชัย…”

ทว่าเมื่อรู้ความจริงอีกชุดหนึ่งว่าภาพนี้เป็น “มุมมองฝ่ายสยาม”  พระยาละแวกมีหลายพระองค์ สงครามในอดีตเป็นศึกระหว่าง “กษัตริย์กับกษัตริย์” มิได้เกี่ยวข้องกับราษฎร  และเอาเข้าจริงทั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงละแวกต่างหาผลประโยชน์จากอีกฝ่าย กรุงศรีอยุธยาคือฝ่ายที่ “ลงมือก่อน” ด้วยการโจมตีเมืองพระนคร ก่อนที่ละแวกจะหาจังหวะ “แยกตัว” เมื่อเข้มแข็ง และบางครั้งเป็นละแวกเองด้วยซ้ำที่เจตนา “อาศัย” กรุงศรีอยุธยาในการแก้ปัญหาของตนเอง

ความจริงชุดนี้ทำให้ภาพจิตรกรรมที่วาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ โดย มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ตามโครงเรื่องประวัติศาสตร์ฉบับชาตินิยมมีผลกับผมต่างไปจากเดิม

แทนความ “สะใจ” กับเหตุการณ์ในภาพ ผมสงสัยว่าประวัติศาสตร์ตรงหน้ามีที่มาจากแหล่งใด

และ “ใคร” คือผู้ที่ได้ประโยชน์จากการเขียนประวัติศาสตร์ลักษณะนี้

เอกสารอ้างอิง 
ขจร สุขพานิช. ข้อมูลจากอดีต. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย, ๒๕๑๘.
พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร, ๒๕๔๒.
พงศาวดารเมืองละแวก จ.ศ. ๑๑๗๐ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑๒. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร, ๒๕๔๙.
พงศาวดารเมืองละแวก จ.ศ. ๑๒๑๗ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑๒. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร, ๒๕๔๙.
ดร. ศานติ ภักดีคำ. เขมรรบไทย ว่าด้วยประวัติศาสตร์การสงครามระหว่างไทย-เขมร. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๔.
น. ณ ปากน้ำ. วัดสุวรรณดาราราม. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๔๕.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา. กรุงเทพฯ : มติชน, พิมพ์ครั้งที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๓.
ศานติ ภักดีคำ. ประวัติศาสตร์กัมพูชา แบบเรียนของเขมรที่เกี่ยวข้องกับไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๖.
ศานติ ภักดีคำ. เขมร “ถกสยาม”. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๒.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. พระนเรศวรตีเมืองละแวก แต่ไม่ได้ “ฆ่า” พระยาละแวก. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๔.

เอกสารแผ่นพับ
สำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา

ขอขอบคุณ
ดร. ศานติ ภักดีคำ, ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, คุณธีรภาพ โลหิตกุล, คุณศรัณย์ ทองปาน, คุณมรกตวงศ์ ภูมิพลับ, คุณโจฮันนา ซัน, Prof. Bruce M. Lockheart, Kang Kallyan

องค์การบริหารส่วนตำบลบางจาน, IPS-Asia Pacific, National University of Singapore (NUS), Institute of Southeast Asian Studies (ISEAS), และ Cambodian Television Network (CTN)

This story and accompanying photos were produced under the ‘Reporting Development in ASEAN’ series of IPS Asia-Pacific, a programme supported by the International
Development Research Centre.