หมอสูน3 001เริ่มเป็นช่างทอง

วิชาช่างเดินถึงกัน

บันไดดังกล่าว  หมายถึงบันไดเดินขึ้นชั้นสองตรงมุมห้องซ้ายมือ  พื้นที่ตรงนั้นจำกัดมาก  ของเดิมทำแบบขึ้นรวดเดียวไม่มีที่พัก  จึงค่อนข้างชัน  หมอสูนเกรงว่าลูกอาจจะตกลงมาตายได้  จึงแก้ไขดัดแปลงเสียเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๗๐ กว่า ๆ  ใต้บันไดมีแคร่ ๑ ตัว  ลุงสมัครใช้เป็นที่นั่งนอนอ่านหนังสืออย่างสบายอารมณ์  ยามใดที่ลูกค้ามาก็ลุกขึ้นต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี  ยามใดที่ไม่มีใครมาก็อ่านหนังสือต่อไปแทบทั้งวัน

ใกล้ ๆ กับแคร่ก็คือโต๊ะที่ผมเคยเอ่ยถึง  โต๊ะนั้นมีลิ้นชักด้วย  ลุงสมัครบรรยายคุณลักษณะพิเศษว่าหมอสูนเข้าปากไม้ได้สนิทจนแม้แมลงสาบก็เข้าลิ้นชักไม่ได้  ขาสี่เหลี่ยมมีบัว  มีลูกแก้วพร้อม  ช่างไม้หลายคนมาเห็นเข้าถึงกับออกปากเหมือนกันหมดว่าถ้าใครมาจ้างให้ทำแบบนี้แทบไม่อยากรับทำ เพราะยากกว่ากลึงเป็นขากลม ๆ หลายเท่า  ต้องประจงแต่งทีละด้านให้ได้ขนาดเท่ากันหมด  ถ้าทำด้านใดด้านหนึ่งผิดไปสักด้านก็เสียหมด  ต้องตั้งต้นทำใหม่อีก  ยังตัวลวดลายอีกเล่า  ก็ต้องให้ตรงกันเป็นพิมพ์เดียว  ไม่ใช่ทำเกลี้ยง ๆ อย่างเดียว  นับเป็นงานเสียเวลาและประดิษฐ์ประดอยอย่างล้นเหลือ  ต้องได้คนใจเย็นจริง ๆ จึงจะทำได้  การทำขากลม  เพียงแต่ประคองสิ่วจ่อไม้ให้เที่ยง  เดี๋ยวเดียวก็เสร็จ

ลุงสมัครกล่าวถึงความสามารถทางช่างของพ่อต่อไปอย่างน่าฟังว่า

“พ่อกล่าวว่าวิชาช่างนั้นเดินถึงกัน   เมื่อเป็นช่างไม้ก็มีส่วนช่วยให้เป็นช่าวเหล็ก  ช่างหิน  ฯลฯ  ตลอดจนช่างทองได้ง่ายขึ้น  เครื่องเหล็กที่พ่อชอบทำก็คือมีดรูปแปลก ๆ ประดิษฐ์ด้ามด้วยเขาควายบ้าง  เขากวางบ้าง  ไม่ซ้ำแบบกันแล้วเอาไม้มาทำฝัก  สวมเข้ากันสนิทแน่นไม่แคลนคลอน  พ่อเคยให้มีดด้ามเขากวาง ๒ กิ่งแก่เพื่อนรักของพ่อไปเล่มหนึ่ง  ไม่กี่วันเพื่อนมาบอกว่าพ่อทำได้ถูกใจอย่างยิ่งแต่ต้องซ่อนเสียแล้ว  พวกพ่อค้าข้างหลายต่อหลายคนมาเห็นเข้ารบเร้าจะซื้อจนรำคาญ  เขาว่าแปลกอย่างเอก  เห็นจะหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว  ขอซื้อไปไว้ประจำตัวเถิด  จะคิดเท่าไรก็ว่ามา

เครื่องหินพ่อก็ทำได้  โดยเฉพาะหินบดยา  ทำไว้หลายชุด  เคยทำโกร่งด้วยหินแดงเนื้อละเอียดไว้ ๒ ชุด  เป็นทรงกลมป้อมคล้ายส้มโอ  มีปากยื่นตรงร่องสำหรับรินน้ำและมีขาแบบจมูกสิงห์อีกด้วย  พ่อคิดแบบขึ้นเอง  เข้าใจว่าจะยังไม่มีใครทำมาก่อน

พ่อศึกษาวิชาใดแล้วก็ไม่ยอมทอดทิ้ง  มีเวลาว่างก็หาความรู้ในวิชานั้นเพิ่มเติมอยู่เสมอ  เมื่อมาอยู่ใกล้อาจารย์ปั่นก็ศึดษาวิชาแพทย์อีก  ทไให้รู้จักตำรายาและเครื่องยาตลอดจนลักษณะของโรคต่าง ๆ ขึ้นมากกว่าเมื่อก่อนบวช  เพราะได้รับคำแนะนำจากท่านอาจารย์อยู่บ่อย ๆ ได้จดบันทึกความรู้ไว้เมากมาย”

หมอสูน3 009พี่สาวเจ็บ  สึกจากพระไปเฝ้าพี่สาว  กลับราชบุรี

พระสูนบวชอยู่ ๓ พรรษา  เป็นที่ถูกอัธยาศัยของอาจารย์ปั่นมากจนไม่อยากให้พระสูนสึก  เพราะได้เป็นกำลังในการทำงานแทบทุกอย่าง  จะให้พระสูนช่วยอะไรก็สามารถทำได้หมด  เรียกว่าเป็นคนรู้งานและรักงานโดยแท้  ทว่าวาสนาที่จะอยู่ในผ้าเหลืองคงมีเพียงแค่นั้น  เพราะไม่ช้าเหตุการณ์ข้างหน้าก็บังคับให้ต้องสึก

วันหนึ่งพระสูนได้รับข่าวจากน้อย  ผู้เป็นพี่สาวว่าเจ็บหนักกว่าทุกคราว  ขอให้ไปอยู่ดูใจเป็นครั้งสุดท้ายด้วย  เมื่อเข้ากรุงเทพฯ ไปเยี่ยมโยมพี่ด้วยความเป็นห่วง  ก็พบว่าโยมพี่ผอมจนผิดรูปกลายเป็นคนละคน  พระสูนเห็นแล้วรู้สึกสงสารจับใจ  มานั่งไตร่ตรองดูเห็นว่าจะเฝ้าพี่สาวทั้ง ๆ ที่ตนยังอยู่ในสมณเพศก็ดูเป็นการไม่สมควร  จึงตัดสินใจสึกออกไปพยาบาล  กระทั่งพี่สาวถึงแก่กรรม  ทิดสูนจึงกลับมาอยู่กับนางจันทร์ผู้เป็นมารดาที่ราชบุรีดังเดิม

เข้ากรุงเทพฯ อีก  ฝึกหัดเป็นช่างทอง

ระยะนั้นอาชีพช่างทองกำลังเฟื่องฟู  ชาวราชบุรีนิยมหัดเป็นช่าวทองกันมากทั้งชายหญิง  แต่ก็นั่นแหละ  ช่างทองบ้านนอกมักทำได้แต่เครื่องประดับแบบโบราณ  เช่น  สายสร้อยสมอ  แหวนพิรอด  กำไลมังกร  และเสมาเป็นต้น  ถ้าใครจะหัดทำของแบบใหม่ก็ต้องเข้าไปฝึกหัดกับครูในกรุงเทพฯ

นายสูนเป็นคนรักรู้  และรักจะเรียนทางการช่าง  เมื่อเห็นว่าอาชีพช่างทอง  อาจทำให้ตนมีอยู่มีกินได้ก็กลับเข้าไปหาความรู้ในกรุงเทพฯ อีก

ณ ที่นั้นนายสูนได้ไปหัดวิชาทำทองกับครูคนหนึ่งชื่อครูแหล  บ้านอยู่ใกล้วัดแก้วฟ้าล่าง  ย่านสี่พระยา (วัดแก้วฟ้าบนคือวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ย่านเกียกกาย)  นายสูนมีความรู้ทางช่างไม้ช่างเหล็กเป็นทุนดีอยู่แล้วจึงเรียนวิชาช่างทองได้ง่าย  อีกประการหนึ่ง  ไม่แต่เข้าใจงานได้เร็ว  หากยังรู้จักตีสิ่วรูปแปลก ๆ ขึ้นไว้สลักรูปพรรณต่าง ๆ ให้เหมาะกับงานที่จะทำอีกด้วย  ทำให้งานเรียบร้อยรวดเร็วเป็นพิเศษ  และครูก็ชมเชยในสติปัญญาเป็นอันมาก

วันหนึ่ง  นายสูนทำจี้ฝังทับทิมอันหนึ่งเสร็จแล้วก็ใช้สิ่วแกะชันที่หุ้มอยู่ออก  แต่บังเอิญพลาดไปโดนห่วงที่ติดไว้สำหรับเกี่ยวระย้าห่วงหนึ่งขาดไป  จะบัดกรีให้ติดใหม่ก็ไม่ได้  เพราะทับทิมที่ฝังไว้อาจโดนความร้อนจนเสียหมด

มีดจักตอกหมอสูน  หงษ์ทอง  ภาพจากนิตยสารสารคดี
มีดจักตอกหมอสูน หงษ์ทอง ภาพจากนิตยสารสารคดี

ครูแหลบอกให้ทุบทับทิมทิ้งให้หมด  บัดกรีห่วงให้เสร็จแล้วจึงค่อยฝังกันใหม่  นายสูนเห็นว่าอาจขาดทุนค่าทับทิม  และอาจไม่ทันเวลาที่นัดเจ้าของมารับ  จะขอลองแก้ด้วยวิธีใหม่คือใช้เข็มจุ่มน้ำมันเจาะตัวจี้ทางตะแคงจนทะลุตรงติดห่วงนั้น  แล้วใช้ทองชักเป็นเส้นลวดเข้าทางรูที่เจาะ  ไปหักเป็นห่วงที่ปลายทาง  แล้วกวดที่รูต้นทางให้เข้ากับตัวจี้จนสนิทไม่เห็นแผล  เมื่อทำสำเร็จด้วยวิธีที่คิดขึ้นเองนี้  ครูก็ชมเชยในปฏิภาณและความพากเพียนสุขุมรอบคอบเป็นอันมาก  ได้มอบงานแปลก ๆ ยาก ๆ ให้ทำข้ามลำดับที่คนอื่นเคยหัดกันมาโดยเร็ว

นายสูนเรียนกับครูแหล ๓ เดือน  สามารถทำสร้อยข้อมือประดับเพชร  โดยคิดแบบพลิกแพลงให้แปลกกว่าของเก่าซึ่งเห็นกันเจนตา  ครูแหลเห็นแล้วต้องใจสนับสนุนให้ทำต่อไป  แต่พอทำเสร็จเพียง ๑ ข้อมือก็ได้รับโทรเลขจากราชบุรี

กลับราชบุรี  ไฟไหม้ราชบุรี

เป็นโทรเลขจากนางจันทร์  สั่งให้ลูกชายกลับราชบุรีทันทีเพราะศรี  น้องสาวของนายสูนเกิดเป็นไข้ทรพิษขึ้นมา  ต้องมีคนไปช่วยพยาบาล  นายสูนต้องลาครูกลับโดยด่วน  ครูแหลเสียดายมาก  บ่นว่าสร้อยอีกข้อมือหนึ่งจะได้ใครทำ  จึงจะมีฝีมือทัดเทียมกัน  เมื่อเสร็จธุระแล้วขอให้รีบกลับมาช่วยทำต่อ

แต่นายสูนก็หาได้กลับไปหาครูแหลอีกไม่  เพราะหลังจากเฝ้าพยาบาลน้องสาวจนทุเลาแล้ว  ก็เกิดเหตุใหญ่  ไฟไหม้ตลาดราชบุรีครั้งใหญ่  นายสูนต้องจูงแม่และอุ้มน้องสาวหนีไปอยู่กลางทุ่ง  จากนั้นจึงย้อนกลับมาขนของที่บ้านซึ่งก็เหลือของให้ขนน้อยเต็มที

นายสูนต้องเป็นผู้นำครอบครัว  ต้องหาที่อยู่ใหม่  คราวนี้ย้ายมาอยู่ติดกับบ้านนายสำเภา  บุญชู  ช่างแก้นาฬิกา  ปืน  ตะเกียงลาน ฯลฯ  ฝีมือเยี่ยมของราชบุรี  ใกล้บ้านนายแช่ม  สัมพันธารักษ์  ทนายความชื่อดังของลุ่มแม่น้ำแม่กลองอยู่ถัดจวนเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี (ตึกสำนักวัฒนธรรมหญิงราชบุรี)  ลงมาหน่อยหนึ่ง  ที่อยู่ใหม่ดังกล่าวไม่ใช่ตึกร้านขายยาดังที่เห็นในปัจจุบัน  ตึกร้านขายยาที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นตึกที่ย้ายมาอยู่อีกทีในเวลาต่อมา

เปิดร้านทำทอง

อัคคีภัยทำให้ครอบครัวแทบหมดเนื้อประดาตัว  คราวนี้ทำอย่างไรจึงจะสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาใหม่ได้  นายสูนก็ต้องเปิดร้านทำทองขึ้นด้วยความรู้ที่เพิ่งไปเรียนมาเพียง ๓ เดือน  พอจะรู้วิธีสลัก  ฝังเพชรพลอย  ขึ้นรูปจี้  รูปแหวน  แต่ก็ยังไม่รู้จักวิธีทำเครื่องประดับทุกรูปแบบ  ใครจะจ้างทำสิ่งอันใดก็ต้องหาตัวอย่างมาให้ดูก่อน  จากนั้นนายสูนจึงค่อยคิดหาวิธีทำเอาเอง  เรียกว่าเป็นการใช้ไหวพริบ  ความมานะอดทน  และวิจารณญาน  รู้จักว่าอย่างไรสวย  อย่างไรไม่สวยซึ่งไม่อาจสอนกันได้  การเห็นตัวอย่างสำเร็จรูปแล้วทำตามอย่างนั้น  จะว่าง่ายก็ไม่ใช่เสียเลยทีเดียว  ถ้าเดาวิธีทำผิดก็อาจไม่ได้รูปที่ต้องการ  แต่โดยมากนายสูนมักทำถูกวิธีเสมอ  หากจะแผลงออกไปก็มักดีกว่าเดิม

ลุงสมัครยกตัวอย่างว่าแหวนตราหัวแบนใหญ่  แกะเป็นรูปสิบสองนักษัตรประจำปีเกิดที่ผู้ชายเริ่มนิยมสวมกันในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีคนนำตัวอย่างมาจ้างให้นายสูนทำ  นายสูนพยายามคิดอยู่นานว่าจะทำอย่างไร  ลองตีหัวให้แบนก็เปลืองทองมาก  และไม่ได้ส่วนเหมือนตัวอย่าง  จึงลองตีเป็นรูปแหวนธรรมดาหัวเล็ก ๆ ก่อน  แล้วตัดก้านเหยียดตรงออกไป  เอาสิ่วผ่าหัวแหวนให้แบะออก  จับก้านทบเข้ามาก็ได้รูปแหวนตราทันที  เป็นอันสำเร็จ  ใครมาจ้างทำก็ทำวิธีนี้เรื่อยมา  ทำได้วันละ ๔ วง  คิดค่าจ้างวงละ ๖ บาท  ซึ่งนับว่าสูงมากในสมัยนั้น  แต่แม้กระนั้นก็มีคนมารุมจ้างจนทำไม่ทัน  ต้องจองล่วงหน้าตั้งเดือน

เรื่องแหวนสิบสองนักษัตรนี้  ต่อมาช่างทองคนหนึ่งคือนายรอด  ซึ่งได้ไปเรียนวิชากับครูแหลเหมือนกัน  พอครูแหลถึงแก่กรรม (หลังจากนายสูนกลับราชบุรีไม่ถึงปี)  นายรอดกลับมา  เห็นนายสูนทำแหวนสิบสองนักษัตรเข้าก็บอกว่าที่เขาเรียนมาใช้หล่อเอาทั้งนั้น

วิธีหล่อคือเอาแหวนตราที่ทำเป็นแม่พิมพ์ด้วยทองแดงกดลงบนลิ้นทะเล  แต่งจนได้ที่แล้วก็หลอมทอง  เทลงตามรอยนั้น  แล้วนำมาแต่งอีกที  ตรงไหนเป็นรูพรุนก็ปะเอา

นายสูนฟังแล้วท้าให้ลองทำแข่งกัน  ปรากฏว่าวิธีตีขึ้นรูปของนายสูนเสร็จก่อนเพราะไม่ต้องเสียเวลาแต่งแม่พิมพ์  ไม่ต้องนั่งซ่อมทองที่โหว่  และเวลาชักเงาแล้ว  แหวนที่ตีเนื้อแน่นกว่าย่อมมีเงาดีและทนกว่าแหวนแบบหล่อ  (อ่านต่อฉบับหน้า)

Untitled-1