แฟนนี่ น็อกซ์
แฟนนี่ น็อกซ์

แฟนนี่ น็อกซ์ “เมียฝรั่ง” ของพระปรีชากลการ

เหยื่อความขัดแย้ง ของวังหลวง-วังหน้า

สังคมไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง

ขนบประเพณีบางอย่าง โดยรับเอาวัฒนธรรมของประเทศทางยุโรปมาใช้ นับแต่การแต่งกาย การดำเนินชีวิต โดยเฉพาะบรรดา “หัวนอก” ทั้งหลายนั้น ทั้งวิถีชีวิตและแนวคิดต่างๆ ดูเหมือนจะจำลองแบบมาจากชาว ยุโรปแทบทั้งสิ้น แม้แต่เรื่องของ “ความรัก’’

ความรักซึ่งเคยถือเป็นเรื่องพึงปกปิด พึงละอาย และเป็นเรื่อง ที่ผู้ใหญ่จะต้องจัดการให้ แต่ความรักสมัย

ใหม่ซึ่งได้รับอิทธิพลจาก อารยประเทศนั้น เป็นความรักที่แสดงออกถึงความปรารถนาของตนเองเป็นใหญ่ โดยมิคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็นอื่นใด ดังเช่นความรัก ของ แฟนนี่ น็อกซ์ กับพระปรีชากลการ หนุ่มสาวหัวนอกในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นความรักที่มีเรื่องราวฉาวโฉ่ ลือลั่นทั้งในและนอกประเทศจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมในที่สุด แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดถึงสาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนั้น แต่จากการศึกษาวิเคราะห์ของนักประวัติศาสตร์ปัจจุบันอาจยืนยันได้ว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน แม้บัดนี้ก็ยังไม่มีใครที่จะทราบเงื่อนงำนั้นอย่างแน่ชัด แต่ผลแห่งเงื่อนงำนั้นก็คือโศกนาฏกรรมที่หนุ่มสาวทั้งคู่ได้รับ

มิสเตอร์ โทมัส ยอร์จ น็อกซ์
มิสเตอร์ โทมัส ยอร์จ น็อกซ์

แฟนนี่ น็อกซ์ เป็นธิดามิสเตอร์โทมัสยอร์จ น็อกซ์ กงสุล อังกฤษประจำประเทศไทย เกิดจากภรรยาคนไทยชื่อปราง บิดาส่งไป เรียนที่ประเทศอังกฤษ ส่วนพระปรีชากลการ เป็นบุตร พระยากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) เสนาบดีคนสำคัญในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปรีชากลการได้รับการศึกษาวิชา วิศวกรรมศาสตร์จากสกอตแลนด์ เป็นข้าราชสำนักหนุ่มรุ่นใหม่ที่ทรงโปรดปรานมากคนหนึ่ง

ด้วยพื้นฐานทางสังคม ครอบครัว และการศึกษาที่เท่าเทียม เสมอกัน ความรักของหนุ่มสาวทั้งคู่จึงเกิดขึ้นท่ามกลางสิ่งแวดล้อม ในวงสังคมชั้นสูง โดยเริ่มรู้จักกันเมื่อทั้งสองฝ่ายซึ่งนิยมกีฬาขี่ม้า เหมือนกัน ได้ขี่ม้าเล่นเพื่อออกกำลังกายในเวลาเช้า ฝายชายอยู่ในกลุ่มข้าราชบริพารที่โปรดปรานขี่ม้าตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝ่ายหญิงก็ขี่ม้าเล่นกับนายน็อกซ์ผู้เป็นบิดา แม้ว่า ฝ่ายชายจะมีภรรยาและบุตรชายหญิงอยู่แล้ว เมื่อมีโอกาสรู้จักกัน ครั้งแรกจึงอยู่ในฐานะมิตรสหาย แต่ต่อมาเมื่อภรรยาพระปรีชาฯ ถึงแก่กรรม การรู้จักกันฉันเพื่อนทำให้มีโอกาสได้เข้าไปแสดงความเห็นอกเห็นใจ และสานความสัมพันธ์ต่อจนกลายเป็นความรักในที่สุด ความรักของหนุ่มสาวทั้งคู่น่าที่จะดำเนินไปคู่จุดหมายปลายทางอย่างราบรื่น หากจะไม่มีเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

พระยากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล)
พระยากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล)

ขึ้นชื่อว่าการเมือง ไม่ว่ายุคใดสมัยใดไม่มีความผิดแผกแตก ต่างกันเท่าใดนัก คือมีการแสวงหาอำนาจ เมื่อได้มาแล้วก็หวงแหน และใช้อำนาจเพื่อบรรลุประโยชน์ของตนเอง

ขณะนั้นการเมืองไทยแบ่งเป็น ๒ ขั้วอำนาจ คือ ฝ่ายวังหลวง และฝ่ายวังหน้า

วังหลวงมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเพิ่งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ อำนาจทางการเมืองส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในฐานะผู้สำเร็จราชการ มีอำนาจเต็ม ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์อยู่ ส่วนวังหน้ามี กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ซึ่งผู้สำเร็จราชการเป็นผู้สนับสนุนให้ ดำรงตำแหน่งนี้ และนายน็อกซ์ ชาวอังกฤษเมื่อเข้ามาเมืองไทยครั้งแรก ได้ทำหน้าที่ฝึกทหารแบบยุโรปให้วังหน้าอยู่ระยะหนึ่ง และต่อมาได้รับตำแหน่งกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ทั้งสมเด็จ เจ้าพระยาฯ และนายน็อกซ์จึงมีความสนิทสนมกับวังหน้าเป็นอย่างมาก นับเป็นกลุ่มอำนาจที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง

ในขณะที่วังหลวงมีเพียงพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการรุ่นหนุ่มที่มีความรู้ความสามารถตลอดจนแนวคิดที่ทันสมัย ซึ่งทรง โปรดใช้สอยและมอบความไว้วางพระราชหฤทัยให้ปฏิบัติงานต่างๆ หนึ่งในจำนวนนั้นมีพระปรีชากลการรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง ทรงให้ความไว้วางพระราชหฤทัยให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญๆ รวมทั้งควบคุมการทำ เหมืองทองที่ปราจีนบุรี

ดังนั้น ความรักของแฟนนี่และพระปรีชากลการจึงดำเนินไป ท่ามกลางความขัดแย้งแตกแยกของกลุ่มอำนาจทั้งสอง แต่หนุ่มสาว มิได้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญไปกว่าเรื่องของความรักพระปรีชากลการมีได้รำลึกถึงความควรไม่ควรในฐานะข้าราชสำนักวังหลวง ส่วน แฟนนี่ก็ไม่สนใจในคำตักเตือนของบิดามารดาถึงผลเสียอันจะเกิดจากอำนาจของผู้สำเร็จราชการ ซึ่งมีความประสงค์ที่จะให้เธอแต่งงานกับบุตรชายคนหนึ่งของท่าน อันจะเป็นการผูกพันอำนาจทางการ เมืองระหว่างตัวท่าน วังหน้าและกงสุลอังกฤษให้แน่นแฟ้นต่อไป

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักพระทัยถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากลายพระราชหัตถเลขา ที่ทรงพระราชทานถึงสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเล่าถึงเรื่องความคิดอ่านของนายน็อกซ์และสมเด็จเจ้าพระยาฯ ไว้ว่า

“..มีผู้ที่ควรจะเชื่อได้ ทราบความมาว่าเขากะสมเด็จเจ้า พระยาฯ เป็นแน่ว่าหม่อมฉันคงจะตายในเร็วๆ นี้เป็นแน่ ด้วยผอมนัก วังหน้าคงได้เป็นเจ้าแผ่นดิน ถ้าวังหน้าไค้เป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว เหมือนกับลูกเขาๆ สงสารจะต้องอุปถัมภ์ช่วยว่าการงานทุกอย่าง ลูกเขานั้นคนใหญ่ที่ไปเรียนหนังสือเมืองนอกคนเดียวเขาจะให้เป็นฝรั่ง แต่ลูกนอกนั้นตามแต่ภรรยาเขาจะให้มีผัวไทยก็ตาม สมเด็จเจ้าพระยาฯ พลอยเห็นจริงด้วย ได้บอกมอบฝากบ้านเมืองถ้าสิ้นท่านแล้ว วังหน้าจะเป็นเจ้าแผ่นดิน ให้เขาช่วยทะนุบำรุงบ้านเมือง และ ฝากบุตรหลานของท่านด้วยเถิด การเป็นดังนี้สมกับคำที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ พูดอยู่เสมอว่า หม่อมฉันคงตายในปีนี้ๆ หลายปีมาแล้วว่า วังหน้าคงมาเป็นเจ้า คำนี้ท่านพูดอยู่ดังๆ กับบุตรหลานนั้นก็ให้มา ฝากตัวอยู่ที่กงสุลอังกฤษจริง เป็นการสมกับที่คำพูด แต่คำที่ฝ่ายภรรยามิสเตอร์น็อกซ์กงสุลพูดนั้นว่า ถ้าวังหน้าเป็นเจ้าแล้ว ลูกสาวจะเป็นสมเด็จพระนาง ผัวจะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ถ้ามีหลาน จะให้เป็นเจ้าแผ่นดินต่อไปด้วย…”

ความสนิทชิดเชื้อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างวังหน้า สมเด็จเจ้าพระยาฯ และนายน็อกซ์นั้น ก่อให้เกิดความยากลำบากในการบริหารประเทศ ดังลายพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงพระยาเทพประชุน ตอนหนึ่งว่า
“…ถ้าการสิ่งไรมาเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ สมเด็จเจ้าพระยาฯ มักเข้าปีกทางกงสุลอังกฤษมาก การสิ่งใดในบ้านเมือง กงสุลอังกฤษ ย่อมทราบทุกอย่าง ราชการเป็นการลำบากนักต้องอลุ่มอล่วยไปทั้งนั้น…”

ในท่ามกลางความยุ่งยากทางการเมืองดังกล่าวแล้วนี้ หนุ่มสาว หัวนอกทั้งคู่ก็ได้เพิ่มความยุ่งยากขึ้นอีก ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามใจตนเอง เมื่อครั้งมีงานพระราชพิธีฉลองพระราชวังบางปะอิน พ.ศ. ๒๔๒๑ พระปรีชากลการได้พาแฟนนี่นั่งเรือส่วนตัวไปในงานฉลองและค้างแรมด้วยกันบนเรือ แม้จะมีบ่าวไพร่อยู่บนเรือด้วยกัน หลายคนและทั้งคู่ก็มีได้อยู่ร่วมห้องกันก็ตาม การประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ถือเป็นความเสียหายร้ายแรง เพราะฝายหนึ่งคือข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกฝ่ายหนึ่งคือลูกสาวกงสุลใหญ่ ซึ่งถือเป็นการหยามเกียรติ นำความเสื่อมเสียมาสู่ประเทศชาติ และยิ่งเมื่อพระปรีชากลการได้พาแฟนนี่กลับกรุงเทพฯ ในขณะที่งานฉลองพระราชวังบางปะอินยังไม่เสร็จสิ้นโดยมิได้กราบบังคมทูลลาหรือกราบทูลให้ทรงทราบ อันมิบังควร

ครั้นกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว เหตุการณ์ต่างๆได้บีบคั้นให้ทั้งสองต้องเข้าคู่พิธีสมรส โดยมิได้ขอ

พระราชทานพระบรมราชานุญาต ตามขนบประเพณีแห่งราชสำนัก ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการหมิ่นเกียรติยศกงสุลในการที่พาธิดาสาวไปค้างแรมทำให้เกิดความเสียหายและข้อครหา ซึ่งเป็นการทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าของหนุ่มสาวทั้งคู่ เพราะนอกจากจะผิดประเพณีอันจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดกับกงสุลของประเทศที่มีอำนาจเช่นอังกฤษแล้ว ยังเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฐานที่เป็นข้าราชการในพระองค์ แต่ทำการต่างๆ ตามอำเภอใจ มิได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบ โดยเฉพาะเรื่องการแต่งงานที่คู่สมรสเป็นลูกครึ่งต่างชาติ มีบิดาที่สามารถให้ผลได้ผลเสียแก่บ้านเมือง จึงถือเป็นการละเมิดอำนาจแผ่นดินอย่างร้ายแรงอย่างไม่เคยมีผู้ใดประพฤติ ปฎิบัติเยี่ยงนี้มาก่อนดังปรากฏในลายพระราชหัตถเลขาทรงปรึกษา เรื่องนื้กับเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ และเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ความว่า

“..ด้วยฉันได้ทราบการจากเจ้าคุณสมเด็จเจ้าพระยาฯ เรื่องซึ่งจะแต่งงานกันเป็นการตกลงกันแล้วทุกอย่างนั้น การอย่างนี้ไม่เคยมีมาแต่ก่อน ขอให้ท่านเสนาบดีตริตรองปรึกษาในการเรื่องนี้ให้เห็นการดีร้ายได้เสียต่อไปข้างหน้า อย่างไรจะรักษาเกียรติยศและอำนาจ แผ่นดินไว้อย่าให้เสื่อมทรามได้ ถ้าขอให้ปรึกษาให้เห็นพร้อมกันแล้วให้เรียนปรึกษาสมเด็จเจ้าพระยาฯ เมื่อเห็นพร้อมกันประการใด ขอให้บอกให้ฉันทราบด้วย…”

เมื่อหนุ่มสาวทั้งคู่แต่งงานกันแล้ว ทั้งสองได้พากันไปอยู่ที่ ปราจีนบุรี ซึ่งฝ่ายชายมีหน้าที่ควบคุมการขุด

ทองส่งเมืองหลวง ทิ้ง ปัญหาและการแก้ปัญหาไว้ข้างหลัง ซึ่งแต่ละคนแต่ละฝ่ายจะได้รับผล กระทบของปัญหาแตกต่างกัน ความคิดเห็นจึงไม่เหมือนกัน สำหรับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไม่พอพระทัยในการที่ ข้าราชการที่ทรงให้ความไว้วางพระราชหฤทัยไปแต่งงานกับสตรีซึ่งอยู่ คนละกลุ่มอำนาจ มิหนำซ้ำยังเป็นกลุ่มอำนาจที่คิดปองร้ายต่อพระองค์ และแผ่นดินไทย ถึงขั้นมีแผนจะแบ่งแผ่นดินไทยออกเป็นสองส่วน เพื่อให้วังหลวงและวังหน้าปกครององค์ละส่วน ซึ่งโดยอำนาจและ สิทธิหน้าที่ในฐานะประมุขของชาติ ทรงต้องพยายามแก้ปัญหานี้อย่างนุ่มนวลและแนบเนียน แต่การแต่งงานของหนุ่มสาวทั้งคู่กลับเป็นการสร้างปัญหาให้เกิดเพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง

ในส่วนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็ย่อมจะต้องไม่พอใจในการ แต่งงานของหนุ่มสาวคู่นี้เช่นกัน เพราะนอกจากจะไมเป็นไปตาม ความประสงค์ของตนในอันที่จะให้แฟนนี่แต่งงานกับบุตรชายคนหนึ่ง
ของท่านเพื่อผูกพันสายสัมพันธ์ระหว่างสกุลบุนนาค วังหน้า และ กงสุลอังกฤษให้แนบ แน่นเป็นหนึ่งเดียวกันยิ่งขึ้น นอกจากการณ์จะไม่เป็นไปดังประสงค์แล้ว มิหนำซ้ำแฟนนี่ยังไปแต่งงานกับชายหนุ่มที่ อยู่กันคนละกลุ่มอำนาจ

แม้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะคืนอำนาจการ บริหารแผ่นดินให้พระบาทสมเด็จ

พระเจ้าอยู่หัวไปแล้ว แต่วาสนา บารมีของท่านก็ยังเต็มเปี่ยมในฐานะผู้ใหญ่ของแผ่นดิน สมเด็จ เจ้าพระยาฯ จึงกราบบังคมทูลแนะนำเรื่องการลงโทษพระปรีชากลการ โดยอ้างเรื่องการเสื่อมเสียพระเกียรติยศเป็นสำคัญ ความว่า

“…ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าจะนิ่งเฉยเสียมิได้ จะเสียพระ เกียรติยศ และอาญาแผ่นดินจะเสื่อมทรามไป ถ้าจะเอาความปลาย ขั้นว่า เป็นเหตุที่ทำบ่อทองของหลวงเบิกเงินไปใช้ก็มาก เดี๋ยวก็ไปเป็นเขยขุนนางต่างประเทศแล้วจะต้องชำระบาญชีเลิกถอนผลัดเปลี่ยนเสียดังนี้…”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรู้เท่าทันการเมือง เกมนี้เป็นอย่างดี ดังที่ทรงมิพระราชหัตถเลขาตอบสมเด็จเจ้าพระยาฯ ความว่า

“…ตัวฉันเป็นเจ้าแผ่นดิน ก็คิดตั้งใจจะรักษาอำนาจแลเกียรติยศแผ่นดินให้ดำรงคงที่ยืนยาวสืบไป เพราะอำนาจแลเกียรติยศแผ่นดินเป็นเครื่องประคองรักษาความยุติธรรมทั้งปวงให้ยั่งยืนอยู่ได้ ผู้ใดทำลายล้างเกียรติยศและอำนาจอาญาแผ่นดิน ซึ่งฉันจะประคับประคองทำนุบำรุง ก็เหมือนหนึ่งไม่รักแผ่นดิน การสิ่งใดซึ่งจะจัดไป เพื่อจะรักษาอำนาจและเกียรติยศแผ่นดินให้ยั่งยืนมั่นคงได้แล้ว ฉันมิได้คิดขัดขวางอยากให้การนั้นสำเร็จทุกอย่าง ขออย่าให้เจ้าคุณมี ความระแวงสงสัยในตัวฉันประการใดประการหนึ่ง ด้วยฉันไม่ได้รัก สิ่งไรมากกว่าแผ่นดิน…”
แม้จะได้รับการยืนยันจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวดังนี้แล้ว สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ยังไม่วายที่จะตอกย้ำต่อไปว่า “..ธรรมดาเป็นผู้ครอบครอง ถ้าเห็นว่าการสิ่งใดจะเป็นเสี้ยนหนามขึ้นในอาณา ก็ต้องรักษาอย่าให้กำเริบลุยลายได้..”

จากพระราชหัตถเลขาและหนังสือโต้ตอบระหว่างพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็พอจะเห็นได้ถึงความยุ่งยากในพระทัยในการสั่งจับกุมดำเนินคดีกับพระปรีชากลการ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๑

พระปรีชากลการ
พระปรีชากลการ

ในระหว่างการดำเนินคดีนั้น พระปรีชากลการได้ถูกคุมขังจำ ตรวนอยู่ที่หลังทิมดาบ กระทรวงวัง และยังคิดแต่เพียงว่าโทษลงอาญา โบย ๓๐ ที ที่ได้รับจากพระราชโองการนั้น เกิดจากความกริ้วของ พระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อข้าราชสำนักที่ทรงโปรด และเข้าใจว่าโทษโบย นั้นสาสมกับความผิดของตน และคงจะทำให้ทรงคลายพระพิโรธลงได้ ดังจดหมายที่พระปรีชาฯ เขียนถึงแฟนนี่ผู้เป็นภรรยาว่า

“… ด้วยตัวฉันเป็นคนไทย ในหลวงกริ้วลงพระราชอาญาเฆี่ยน แล้วก็จะค่อยคลายกริ้วลงทุกที อย่าให้แม่แฟนวุ่นวายไป ธรรมเนียมไทยกับธรรมเนียมฝรั่งไม่เหมือนกัน จะเอาเหมือนธรรมเนียมฝรั่งไม่ได้ จะพาฉันมีความผิด ฉันเห็นใจแล้วว่าแม่แฟนรักฉันมาก ถ้าอ้อนวอนในหลวงฤๅสมเด็จเจ้าพระยาฯ เห็นจะได้ออกเร็ว…”

แต่ทั้งพระปรีชาฯ และแฟนนี่หารู้ไม่ว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น ได้ถูกกระพือโหมให้กลายเป็นความขัดแย้งระดับชาติไปแล้ว ทั้งนี้เพราะนายน็อกซ์ผู้พ่อตา ซึ่งมีความประสงค์จะช่วยเหลือบุตรเขย ได้พยายามเจรจากับสมเด็จเจ้าพระยาฯ และขอเข้าเฝ้ากราบทูลขอพระราชทานอภัยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เป็นผล เพราะคดีนี้มิใช่ความผิดธรรมดาแต่กลายเป็นเรื่องการประลองกำลังระหว่าง ขั้วอำนาจทั้งสอง โดยมีพระปรีชากลการเป็นเสมือนเป้านิ่ง นายน็อกซ์ซึ่งหมดหนทางที่จะช่วยลูกเขย จึงคิดหาทางออกขั้นสุดท้ายซึ่งคาดว่า จะได้ผล นั่นคือการขู่จะนำเรือปืนอังกฤษเข้ามาปิดปากอ่าวไทยตาม อำนาจกงสุล ซึ่งเท่ากับเป็นการก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศ การขู่เช่นนี้แทนที่จะได้ผลดีกลับกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต้องรีบแกัไขเหตุการณ์โดยด่วน ด้วยการส่ง คณะทูตพิเศษมีพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นหัวหน้า นำ เรื่องราวความเป็นจริงไปชี้แจงให้รัฐบาลอังกฤษเข้าใจ

เรื่องการพิจารณาคดีก็ยังคงดำเนินต่อไป ได้มีการขยายผล กว้างขวางอันเนื่องมาแต่ได้มีราษฎรร้องเรียนกล่าวโทษพระปรีชากลการเพิ่มขึ้นอีกหลายประการ มีทั้งการแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและ พวกพ้อง การกดขี่ทารุณทำร้ายราษฎรและอื่นๆ อีกถึง ๒๗ เรื่อง ข้อหาที่พระปรีชาฯ ได้รับคือ

๑. เบิกเงินมาหลายหมื่นชั่ง แต่ได้ทองถวายเพียงไม่กี่ลิ่ม

๒. ท่าการทารุณเลขหัวเมืองที่เกณฑ์ให้ตัดฟันตอในน้ำซึ่ง กีดขวางทางเดินเรือบรรทุกทอง โดยใช้ง่ามถ่อค้ำคอคนที่ดำลงไปตัดตอจนขาดใจตาย และทำการทารุณกรรมแก่ราษฎรอย่างร้ายแรงหลายประการ

๓. แล่นเรือตัดหน้าฉานขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน

๔. แต่งงานกับคนต่างประเทศโดยไม่ขอพระบรมราชานุญาต ในส่วนสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้สรุปความผิดของพระปรีชากลการ ไว้ว่า

“..การหลวงที่ไม่ได้อยู่ช่วย ทูลลาก็ไม่ทูล…ดูถูกในหลวงมาก พระปรีชามิได้คำนับผู้ใหญ่ในตระกูลฝ่ายหญิงและฝ่ายไทย มิได้กราบทูลในหลวง เป็นการหมิ่นประมาท…”

คดีพระปรีชากลการเป็นคดีที่ทุกคนจับตามองอย่างจดจ่อถึง
ผลการตัดสิน เพราะรู้อยู่ว่ามิใช่คดีความผิดธรรมดา เรื่องนี้นายน็อกซ์ ได้รายงานไปยัง ลอร์ด ซอลส์เบอรี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ในขณะนั้นว่า

“… พระปรีชาฯ เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ ๕ มาก อาจจะ โปรดมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นรัชกาลที่ ๕ ทรงลงโทษพระปรีชากลการด้วยความฝืนพระทัย เนื่องจากทรงทราบว่าการกระทำของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นการทำลายข้าราชบริพารฝ่ายพระองค์…”

แม้คดีจะมีเงื่อนงำซ่อนเร้นประการใดก็ตาม ผลการตัดสินก็คือ การประหารชีวิตพระปรีชากลการ

จดหมายเหตุโหรของจมื่นก่งศิลป์ บันทึกเรื่องการประหารชีวิต พระปรีชากลการไว้ว่า

“…วันเสาร์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนอ้าย จ.ศ. ๑๒๔๑ วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๒ เพลา ๑๑ ทุ่ม เอานายสำอางลงเรือไฟไปเมือง ประจิม วันจันทร์ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือนอ้าย (วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน) ถึง เมืองประจิม เพลาเช้า ๔ โมง เพลาบ่าย ๔ โมง สำเร็จโทษนายสำอาง…”

ในตอนท้ายสุดของชีวิตนั่นเองที่พระปรีชากลการได้แสดงถึง ความเข้าใจถึงสาเหตุที่ต้องถูกตัดสินประหารชีวิต ดังที่ รองอำมาตย์โท หลวงบำรุงรัฐนิกร ได้บันทึกไว้เป็นความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ ก่อนประหารชีวิตพระปรีชากลการ ความว่า

“…พระปรีชาฯ เอาผ้าขึ้นเช็ดหน้า แล้วทิ้งลงดิน พูดออกมา อย่างน่าสงสารว่า โบสถ์สร้างขึ้นยังไม่ทันแล้ว เพราะได้เมียฝรั่ง ตัวจึงตาย…”

ชีวิตคู่ของพระปรีชากลการกับแฟนนี่สาวลูกครึ่งอังกฤษก็ถึง กาลอวสานลงอย่างถาวร เมื่อนายน็อกซ์ซึ่งถูกเรียกตัวกลับอังกฤษ และได้พาครอบครัวเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน

แต่ความผูกพันและรำลึกถึงพระปรีชากลการมิได้จางคลายจาก หัวใจของแฟนนี่ และสิ่งที่เป็นสายใยยึดโยงไว้ก็คือบุตรชายที่เกิดจาก พระปรีชากลการ ชื่อ สแปนเชอร์ หรือ จำรัส

สแปนเซอร์ หรือ จำรัส บุตรชายพระปรีชากลการกับ แฟนนี่ น็อกซ์
สแปนเซอร์ หรือ จำรัส บุตรชายพระปรีชากลการกับ แฟนนี่ น็อกซ์

และยังมีบุตรชายหญิง ของพระปรีชากลการซึ่งเกิดจากคุณลม้ายภรรยาที่เสียชีวิตไปแล้วนั้น คือ ตระกูล และ อรุณ ๒ พี่น้อง แฟนนี่ได้นำเด็กทั้ง ๒ เดินทางกลับไปอังกฤษด้วย

ความรักที่แฟนนี่มอบให้เด็กไทยทั้งคู่น่าจะเป็นพยานยืนยันให้เห็นถึงน้ำใจรักอันบริสุทธิที่แฟนนี่มีต่อพระปรีชากลการ ให้เป็นอย่างดี ทั้งคุณตระกูล และคุณอรุณ เติบโตขึ้น ท่ามกลางความรักและความเอาใจใส่จากแฟนนี่เป็นอย่างดี จนได้เดินทางกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนเมื่ออายุได้ ๑๗ ปี มีความรู้ด้านภาษาทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นเลิศ เข้ารับราชการ สนองพระเดชพระคุณฐานะล่ามสตรีในพระราชสำนักฝ่ายใน และได้พิสูจน์ความเป็นสายเลือดอมาตยกูลที่ซื่อตรงจงรักภักดี ต่อราชวงศ์และผืนแผ่นดินไทยมาแต่บรรพบุรุษอย่างไม่มีเสื่อมคลาย